กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--GIZ
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ “การสอนงานที่มีประสิทธิภาพในสถานประกอบการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนามาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 ขึ้นที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจระบบการสอนงานในสถานประกอบการของเยอรมันเพิ่มมากขึ้นและนำข้อคิดเห็นจากการศึกษาดูงานมาปรับใช้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 เพื่อสร้างร่างมาตรฐานอีกด้วย บริษัทที่ผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชมได้แก่ บริษัท ALPMA GmbH ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในการสร้างเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นม และบริษัท Schattdecor AG ผู้ผลิตกระดาษนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Decor Paper ร่วมทั้งเข้าเยี่ยมชมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมืองมิวนิคและบาวาเรียเหนือ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถานประกอบการ และมีส่วนสำคัญในการผลิตแรงงานฝีมือที่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน
การประชุมเชิงปฏิบัติการที่มิวนิคนี้ เป็นการประชุมครั้งที่สาม ในจำนวนทั้งหมดสี่ครั้ง ที่มีขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐาน หลักสูตร และระบบการประกันคุณภาพของครูฝึกในสถานประกอบการ โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาครัฐ และเอกชนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยมาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการ สำหรับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ จะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะนำไปปรับใช้ในประเทศต่างๆในภูมิภาค ในช่วงปลายปี 2558
นางปัทมา วีระวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคคลากรอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ในเยอรมนี ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ หอการค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพแรงงานฝีมือเป็นอย่างมาก ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาคนเพื่อผลในระยะยาวแก่ประเทศตนเอง คือ แรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ การศึกษาดูงานครั้งนี้นอกจากจะทำให้เราเห็น ระบบต้นแบบของเยอรมัน ว่าทวิภาคีและการสอนงานในสถานประกอบการควรจะดำเนินไปอย่างไรแล้ว ยังได้รับทราบแนวทางการปลูกฝังแนวคิดการเรียนอาชีวศึกษาในกลุ่มเยาวชน ซึ่งดำเนินการแบบมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการ โดยครูฝึกในสถานประกอบการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ อีกทั้งทำให้เราเห็นคุณค่าของมาตรฐานที่เรากำลังพัฒนาว่ามีความสำคัญอย่างไร และจะทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างไร มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะคุณภาพครูฝึกเท่านั้น แต่มีผลโดยตรงต่อระบบการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนจากคุณภาพนักศึกษาที่ได้เข้ารับการฝึก”
มร. คริสเตียน ชเตือร์ ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า “การเพิ่มเติมการศึกษาดูงานเข้าไปในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 นั้นก็เพื่อที่จะให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นว่า ระบบทวิภาคีของเยอรมัน และการสอนงานในสถานประกอบการนั้นเป็นอย่างไรในประเทศเยอรมนี รวมถึงให้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานที่ทุกคนกำลังร่วมพัฒนากันอยู่ด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อพวกเขาเห็นความสำคัญของมาตรฐาน และเห็นว่าการมีมาตรฐานสามารถกำหนดคุณภาพของการเรียนการสอนทั้งระบบได้ พวกเขาก็จะพร้อมรับมาตรฐานไปใช้ในประเทศของตนมากยิ่งขึ้น”
โครงการ “การสอนงานที่มีประสิทธิภาพในสถานประกอบการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา