กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
เราทุกคนสามารถเป็น “ยักษ์” ได้ หากเราค้นพบแรงบันดาลใจสู่การ “ปลุกยักษ์” ในตัวเอง เช่นที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเดินทางและคนทำสารคดี ที่มาบอกเล่าประสบการณ์จากการเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก และได้พบเจอยักษ์มากมาย เพื่อจุดประกายให้ผู้ที่มาร่วมงาน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม ครั้งที่ 5 (Night at the Museum 5) ตอนปลุกยักษ์” เทศกาลประจำปีของมิวเซียมสยาม ที่เปิดให้เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนเมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ สู่การเป็นยักษ์ที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเดินทางและคนทำสารคดี เผยว่า “ผมมีโอกาสเดินทางไปมาแล้วเกือบทั่วทุกมุมโลกครับ ทำให้ผมได้พบเจอกับยักษ์มากมาย ซึ่งยักษ์ในมุมมองของผมนั้น อาจจะไม่เหมือนยักษ์ในมุมมองของใครหลายๆ คน ที่ยักษ์อาจหมายถึงพลัง หรือยักษ์คือคนที่ประสพความสำเร็จเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่มุมมองยักษ์ในแบบของผม คือมนุษย์อย่างเราๆ นี่ล่ะครับ คนตัวเล็กๆ ที่โดนกดดันทั้งจากสภาพแวดล้อม หรือคนรอบข้าง แล้วสามารถก้าวข้าม นั่นคือยักษ์ในแบบของผม และก็เป็นยักษ์ในแบบของตัวคุณเอง
จากการเดินทางที่ต้องไปทำสารคดีนี้เอง ทำให้ผมได้ค้นพบยักษ์ 3 ประเภทครับ โดย ยักษ์แรกนั้น คือยักษ์ที่อยู่ในคนทั่วไป เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสเดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจากการเดินทางในครั้งนั้นทำให้ผมได้พบกับกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มสาว ที่คิดหาทางออกเรื่องบ้านเมืองเยอะมาก โดยมีการศึกษาประวัติศาสตร์ การเมืองต่างๆ เพราะต้องการหาทางออกให้แก่ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการเดินทางไปในครั้งนั้น ทำให้ผมได้พบกับภาพที่น่าประทับใจ ที่หมู่บ้านตำบลทรายขาว จังหวัดปัตตานี ที่นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ ที่มีคนมุสลิม และคนไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และอยู่มาหลายชั่วอายุคน โดยผมมีโอกาสถ่ายภาพร่วมกับโต๊ะอิหม่าม และหลวงปู่ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นเพื่อนกันมาแต่เด็ก และเมื่อโตขึ้น ทั้ง 2 ท่านต่างก็เป็นผู้นำในศาสนาของแต่ละศาสนาที่ตนนับถือ ซึ่งท่านทั้ง 2 แสดงให้ผมและทุกคนได้เห็นถึงยักษ์ ที่ยอมแพ้ต่อความเกลียดชังในใจ แต่เอาชนะความรู้สึกในใจของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้รับรู้ว่า คนบางคนอยู่ในที่ที่ความรุนแรงมาถึงหน้าบ้าน แต่เขายังสามารถเอาชนะความเกลียดชัง และอยู่ร่วมกันด้วยความรักอย่างแท้จริง
อีกครั้งกับการเดินทางที่ทำให้ผมได้เห็นว่าเยาวชนอายุน้อยๆ ก็สามารถเป็นยักษ์ได้เช่นกัน ที่งานประชุม One Young World ซึ่งจัดที่ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำเยาวชน ที่มีอายุ 18-30 ปี โดยเป็นตัวแทนจากเยาวชนทั่วโลก 1,800 คน จาก 189 ประเทศ ผมได้เจอกับเด็กพลังสูงจำนวนมาก ที่มีความคิดว่าโลกจะเป็นยังไงก็ช่าง แต่ฉันจะเปลี่ยนมันให้ดีขึ้นให้ได้ มีเด็กหลายคนทำเรื่องน่ามหัศจรรย์มากๆ อย่างในไอร์แลนด์มีความขัดแย้ง โดยแยกเป็นไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ มานานเป็นร้อยปีได้ เขามีไอเดียอยากให้คนหันหน้ามาคุยกัน โดยเปิดคาเฟ่ขึ้นที่แห่งหนึ่ง แล้วจะถามคนที่มาคาเฟ่นี้ว่าอยู่ฝ่ายไหน และจับคนที่อยู่คนละขั้วมานั่งดื่มกาแฟด้วยกัน นี่คือไอเดียของเด็กอายุ 22-23 ปี ไม่เพียงเท่านี้ยังมีเด็กอายุ 27 ปี ที่ต้องการให้วัคซีนราคาถูกลง จึงคิดวิธีการสร้างซอฟต์แวร์ออกแบบวัคซีน และขายให้กับบริษัททำยายักษ์ใหญ่ของโลกในราคาไม่แพง เพื่อให้ต้นทุนโดยรวมของยาวัคซีนถูกลงที่ผ่านมา เวลาเรามองปัญหาอะไร เราจะอาจมองแค่เรื่องของเรา หรือในประเทศของเรา แต่อย่างในงานนี้นั้น ทำให้ผมได้เห็นถึงความคิดของเด็กๆ เหล่านี้ ที่ไม่ได้มองแค่แต่เรื่องของเราเท่านั้น แต่เขามองไปถึงทั้งโลก ทำให้ผมได้เห็นถึงคำว่าประชากรโลก มันเข้ามาในหัวผมจริงๆ ว่ามันเป็นแบบนี้นี่เอง และเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้แค่พูดอย่างเดียว แต่เขายังลงมือปฏิบัติ ซึ่งในปีหน้าช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ การประชุม One Young World กำลังจะมาจัดในประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6
ต่อมา ยักษ์ตัวที่ 2 ที่ผมได้พบเจอ คือยักษ์ที่เป็นคนระดับโลก ที่ได้ไปสัมผัสมาจริงๆ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ท่านดาไลลามะ ซึ่งตอนนั้นผมตื่นเต้น และเกร็งมาก ผมเตรียมตัวค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่เมื่อท่านเดินเข้ามาในห้องที่สัมภาษณ์พร้อมเสียงหัวเราะที่บ่งบอกถึงความใจดี อาการเกร็งต่างๆ ของทุกคนในห้องหายไปทันที ด้วยเพราะความเมตตาที่แผ่ออกมาของท่าน เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์มาก ในวันนั้นผมได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างผ่านการสัมภาษณ์ อย่างเรื่องของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ และหลายครั้งๆ ที่ผมทำรายการสารคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทำให้ผมรู้ว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นยักษ์ตลอดกาลเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์สอนนั้น เป็นยักษ์ของจริง ที่ไม่สามารถล้มได้ ที่ไม่ว่าจะมีใครตั้งคำถามอะไร คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะมีคำตอบให้เสมอ
และ ยักษ์ตัวที่ 3 คือยักษ์ที่เป็นสถานที่ ทุกวันนี้เราเล่นอินเทอร์เน็ท หรือกำลังนั่งสไลด์หน้าจอมือถือ เรากำลังบอกว่าเรานั้นเชื่อมต่อกับโลกภายนอกทั้งโลกได้ในมือ แต่หากคุณได้มีโอกาสเดินทางไปอย่างทุ่งหญ้าสะวันนา ในประเทศเคนย่า แล้วเจอสิงโตกำลังนอนรออาหารอย่างม้าลายมาเดินผ่าน มันทำให้ผมรู้สึกว่านี่แหละ โลกของจริง ที่มันใหญ่ยักษ์จนหาเส้นขอบเขตไม่เจอ หรือแม้กระทั่งป่าอเมซอน เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นป่าที่น่าอัศจรรย์ ที่เมื่อยิ่งเดินเข้าไปในป่า คุณจะเจอสิ่งมีชีวิตที่ไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นแมงมุมที่ตัวใหญ่กว่ามือของเรา หรือหากล่องเรือในแม่น้ำ ก็จะเจอตะโขงลอยมาทักทาย
ผมมองว่าแรงบันดาลใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่มีใครสามารถเป็นยักษ์ได้ตัวเองคนเดียว แต่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจมาเป็นตัวกระตุ้น การออกไปดูโลกกว้างก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้เราได้พบกับแรงบันดาลใจ ได้เห็นอะไรมากมาย แม้ว่าผมจะมีประสบการณ์มากมายจากการเดินทางมาเยอะมาก แต่แรงบันดาลใจจากคนข้างตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัว ก็สำคัญเช่นเดียวกัน คนบางคนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลๆ เพื่อตามหาแรงบันดาลใจ บางคนแค่เดินใกล้ๆ ก็สามารถเห็นแรงบันดาลใจได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถสร้างความสมบูรณ์ของแรงบันดาลใจจากโลกภายนอก และแรงบันดาลใจจากคนใกล้ตัวเข้าไว้ด้วยกันได้หรือไม่ครับ”
ค้นหาแรงบันดาลใจสู่การปลุกยักษ์ในตัวเอง ผ่านคำบอกเล่าจาก วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ทำให้รู้ว่า เราเองที่เป็นคนตัวเล็กๆ ก็สามารถเป็นยักษ์ได้ เพียงแค่เราต้องออกไปค้นหาแรงบันดาลใจสู่การเป็นยักษ์ที่สมบูรณ์