กรุงเทพ--30 ม.ค.--กทม.
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภาฯ สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 4 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ นางยุพดี วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร ได้ตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารเรื่อง ความคืบหน้าในการเตรียมข้อกฎหมายและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียรวม โดยนางยุพดีถามว่า เมื่อระบบบำบัดน้ำเสียรวมกรุงเทพมหานครแล้วเสร็จกทม.มีการจัดเตรียมค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียหรือไม่ อย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียจากประชาชนในกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง รวมถึงปัจจุบัน กทม.มีการใช้กฎหมายใดในการควบคุมให้อาคารต่างๆ มีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย
รศ.ญาณเดช ทองสิมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอบกระทู้ดังกล่าวว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบำบัดน้ำเสีย กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับภาระอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียนี้ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ และขณะนี้ กทม.ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแทนส์ จำกัด และ Metcalf & Eddy International, Inc. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการนี้เริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างเลขที่ สนน. 197/2540 ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2540 มีระยะเวลาดำเนินงานรวม 300 วัน (สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2541) และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป สำหรับกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมให้อาคารต่างๆ มีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
นอกจากนี้ นางยุพดี ได้เสนอแนะให้ กทม.เร่งรัดหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ไม่มีระบบน้ำเสียเริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยด่วน และต้องก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียตาม พ.ร.บ.อย่างเคร่งครัด รวมทั้งปลุกจิตสำนึกของคนในกรุงเทพฯ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วย--จบ--