กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังจากประเทศอังกฤษ Times Higher Education ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ประจำปี 2015 ( The Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings 2015 ) ในปีนี้ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 100 อันดับมหาวิทยาลัยใน 22 ประเทศ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นอันดับ 1 ในไทย และเป็นอันดับที่ 49 ของการจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวม 22 ประเทศ มีมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับที่ 63 และ 90 ตามลำดับ โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 Peking University จากประเทศจีน, อันดับที่ 2 Tsinghua University จากประเทศจีน, อันดับที่ 3 Middle East Technical University จากประเทศตุรกี , อันดับที่ 4 University of Cape Town จากประเทศแอฟริกาใต้ และอันดับที่ 5 Lomonosov Moscow State University จากประเทศรัสเซีย
สำหรับระเบียบวิธีวิจัยการจัดอันดับของ The Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings 2015 ยังคงมีหลักเกณฑ์คล้ายกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกประจำปี 2014-2015 ประกอบด้วย 5 ด้าน 13 ตัวชี้วัดศักยภาพ ได้แก่ 1. Teaching: The learning environment สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณภาพการสอน สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา 30% 2. Research: Volume, Income, Reputation คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 30% 3. Citations: Research influence การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง 20% 4.Industry income: Innovation รายได้ทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น 10% และ 5. International outlook: Staff, Students and Research ความเป็นนานาชาติจากสายตาภายนอก อาจารย์, นักศึกษาและงานวิจัยนานาชาติ10% ซึ่งคะแนนในปีนี้ มจธ.ทำได้คะแนนดีที่สุด คือ Citations มีคะแนน 75 รองมาเป็น Industry income: Innovation ได้คะแนน 56.5 ตามด้วย International outlook ได้คะแนน 22.5 ขณะที่ Teaching และ Research มีคะแนน 16.7 และ 10 ตามลำดับ โดยในปีนี้ แม้ มจธ.ยังคงอันดับ 1 ในไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับการจัดอันดับตกลงทุกแห่งและบางแห่งที่เคยติดอันดับเมื่อปี 2014 ก็หลุดโผไม่ติดอันดับ ดังนั้น จากผลการจัดอันดับในปีนี้จึงอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าแนวโน้มของคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุดมศึกษาไทยเมื่อเทียบกับนานาประเทศจึงเป็นแนวโน้มหนึ่งที่อุดมศึกษาไทยต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง