กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--เอยูโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพลล์) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลปีใหม่ปี 2558 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 2,017 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-23 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ด้านการเดินทางในช่วงปีใหม่นี้ ประชาชนกว่าครึ่งหรือร้อยละ 55.4 ตั้งใจจะอยู่บ้าน ไม่เดินทางไปไหน อีกร้อยละ 25.7 จะเดินทางกลับภูมิลำเนา และร้อยละ 17.5 จะเดินทางไปเที่ยวที่ต่างจังหวัด โดยจังหวัดท็อปฮิตที่อยากจะเดินทางไปเที่ยวช่วงปีใหม่มากที่สุด คือ เชียงใหม่ (ร้อยละ 9.3) รองลงมา คือ เชียงราย (ร้อยละ 5.8) และโคราช (ร้อยละ 4.7) มีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่ตั้งใจจะไปต่างประเทศ สำหรับพาหนะที่จะใช้เดินทางช่วงปีใหม่นี้ ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว รถเพื่อน ญาติพี่น้อง (ร้อยละ 59.9) รองลงมา คือ รถโดยสารประจำทาง (ร้อยละ 11.2) และรถตู้ รถเช่า (ร้อยละ 9.2)
ส่วนกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำมากที่สุดในช่วงปีใหม่ ได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ไปทำบุญไหว้พระที่วัด (ร้อยละ 41.4) ทำบุญตักบาตร (ร้อยละ 34.5) สวดมนต์ข้ามปี (ร้อยละ 12.8) เป็นต้น และกิจกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว (ร้อยละ 41.9) เยี่ยมญาติพี่น้อง (ร้อยละ 28.9) พบปะสังสรรค์กับคนรู้จัก (ร้อยละ 24.6) เป็นต้น
สำหรับการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ปัจจัยที่คนส่วนใหญ่ใช้เลือกสถานที่ท่องเที่ยว คือ ความสะดวกในการเดินทาง (ร้อยละ 27.0) รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร (ร้อยละ 21.1) และความต้องการของสมาชิกในครอบครัว (ร้อยละ 16.5)
ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว พบว่า มีประชาชนเพียงร้อยละ 27.7 เท่านั้นที่ทราบว่ามีมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ในขณะที่ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 72.3 ไม่ทราบ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถช่วยในการตัดสินใจท่องเที่ยวได้ (ร้อยละ 62.1) ในขณะที่อีกประมาณ 1 ใน 3 ระบุไม่ได้ช่วยเลย (ร้อยละ 37.9)
ส่วนเงินที่เตรียมไว้ใช้ในช่วงปีใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมค่าใช้จ่ายไว้สำหรับช่วงปีใหม่ (ร้อยละ 77.3) มีเพียงร้อยละ 22.7 เท่านั้นที่เตรียมค่าใช้จ่ายไว้เฉลี่ย 17,623 บาท โดยตั้งใจจ่ายเป็นค่าอาหาร (ร้อยละ 54.8) ค่าเดินทาง (ร้อยละ 40.0) และค่าทำบุญ (ร้อยละ 39.3) ซึ่งโดยเฉลี่ยจะแบ่งให้พ่อแม่ 5,262 บาท ค่าเดินทาง 3,215 บาท ค่าที่พัก 2,313 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 83.3 ไม่ได้รับโบนัสในช่วงปีใหม่
สำหรับพรปีใหม่ 3 อันดับแรกที่ขอให้ตัวเอง ได้แก่ ขอให้สุขภาพแข็งแรง (ร้อยละ 28.2) ขอให้มีความสุขสงบในจิตใจ (ร้อยละ 23.6) และขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน (ร้อยละ 19.4) เป็นต้น พรที่ขอให้ครอบครัว ได้แก่ ขอให้คนในครอบครัวสุขภาพแข็งแรง (ร้อยละ 28.2) ขอให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา (ร้อยละ 22.3) ขอให้คนในครอบครัวรักใคร่สามัคคี (ร้อยละ 20.9) เป็นต้น และพรที่ขอให้สังคมและประเทศชาติ ได้แก่ ขอให้คนในชาติรักใคร่สามัคคี (ร้อยละ 27.1) ขอให้มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ ไม่คอร์รัปชั่น (ร้อยละ 16.9) ขอให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสุข (ร้อยละ 15.4) เป็นต้น
และเรื่องที่ตนเองต้องการจะปรับปรุงในปีใหม่ 3 อันดับแรก คือ ตั้งใจทำงาน ตั้งใจเรียน (ร้อยละ 44.2) ตั้งใจใช้จ่ายอย่างประหยัด (ร้อยละ 38.0) และตั้งใจเป็นคนดี (ร้อยละ 16.3) เป็นต้น ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุง 3 อันดับแรก คือ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม (ร้อยละ 21.6) ทำให้บ้านเมืองสงบ มีความสามัคคี (ร้อยละ 21.1) และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น (ร้อยละ 18.4) สำหรับความคาดหวังต่อประเทศไทยในปีใหม่ ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น (ร้อยละ 58.2) ให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่แตกแยก (ร้อยละ 38.1) และไม่มีการคอร์รัปชั่น (ร้อยละ 14.7)
จากข้อค้นพบที่ได้จากการสำรวจ สรุปได้ว่า ช่วงปีใหม่นี้ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจจะอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดต่างก็รอญาติพี่น้องลูกหลานกลับมาเยี่ยมจึงไม่เดินทางไปไหน ในการเดินทางช่วงปีใหม่นี้ ประชาชนนิยมใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก ดังนั้น การรณรงค์ในเรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัยจึงยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงเทศกาลนี้
ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำในช่วงปีใหม่นี้ คือ การทำบุญ-ไหว้พระที่วัดและการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว สำหรับผู้ที่จะไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากความสะดวกในการเดินทางและความประหยัดเป็นหลัก ซึ่งมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มีส่วนช่วยในการตัดสินใจท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบถึงมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการนี้อย่างทั่วถึง
สำหรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมค่าใช้จ่ายไว้ แต่ถ้าเตรียมไว้ก็จะนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ค่าเดินทางและทำบุญเป็นหลัก นอกจากนี้ พรปีใหม่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความสุขใจของตนและคนในครอบครัว รวมทั้งความรักใคร่สามัคคีและความสงบของคนในชาติ และที่สำคัญ คือ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชั่น และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะดีขึ้นในปีใหม่นี้