กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤศจิกายน 2557จำนวน 1,150 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 27.0,41.7 และ 31.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.5,11.1,13.2,15.3 และ 15.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 83.0 และ 17.0 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.5 ในเดือนตุลาคม โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดขายในประเทศที่กระเตื้องขึ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ให้ข้อมูลว่าการส่งออกไปประเทศคู่ค้ามีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระดับความเชื่อมั่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการSMEs ยังมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน การขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนของราคาวัตถุดิบ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจาก 105.6 ในเดือนตุลาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีของอุตสาหกรรมทุกขนาดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 81.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 80.3 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นจาก 104.5 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 87.9 เพิ่มขึ้นจาก 85.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษเป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 104.3 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 99.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 108.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 108.5 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 90.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 87.7 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (สินค้าประเภทไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ผักและผลไม้ จากตลาดยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปในประเทศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมยานยนต์ (มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายช่วงปลายปี รวมทั้งการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทโทรทัศน์ และกล่องทีวีดิจิตอล มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากโครงการคูปองทีวีดิจิตอลของภาครัฐ สินค้าประเภทอุปกรณ์สื่อสาร Smart Phone และ Tablet มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากงาน commart ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 90.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ประเภทผ้าผืน ผ้าลูกไม้ มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าประเภทเส้นด้ายและผ้าลาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) สินค้าประเภทของชำร่วย งานหัตถกรรม (มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากฤดูกาลท่องเที่ยว และมียอดส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้นเนื่องจากใกล้เทศกาลปีใหม่ จึงส่งผลให้ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์ประเภทภาชนะเซรามิก มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศดูไบ ญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 89.6จากระดับ 88.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมน้ำตาล (เนื่องจากอยู่ในฤดูกาลหีบอ้อย ขณะเดียวกันยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (สินค้าประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ แคตตาล็อก วารสาร มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกกล่องกระดาษลูกฟูกไปประเทศ ญี่ปุ่นและจีน เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 106.0 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 98.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.7 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (มียอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงสิ้นปีผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย นอกจากนั้นประเภทคอมเพรสเซอร์ เครื่องทำความเย็น มียอดส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น ยุโรปและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเคมี (ผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมี มียอดขายเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทเครื่องประดับเงินและเพชรมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น จากตลาดตะวันออกกลาง และเยอรมนี อัญมณีประเภทพลอย ทับทิม มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.9 เพิ่มขึ้นจาก 105.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ พฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 78.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 76.0 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ยอดขายน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดในอินเดียและบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (ส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง ปลาหมึก และกุ้งแช่แข็งไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (มีคำสั่งซื้อไม้แปรรูปจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 103.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนตุลาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 88.3 ปรับตัวเพิ่มจาก 85.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 96.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.0 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์และโทรคมนาคมอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.4 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว พร้อมจัดตั้งศูนย์ติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อแก้ปัญหาทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เช่น เหล็ก อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ