กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อให้เกิดกระบวนการพูดคุยอย่างสันติสุข ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นพหุสังคม ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดี ที่ชายแดนใต้ เพื่อบริการวิชาการ ด้านวัฒนธรรมแก่ชุมชน และผ่อนคลายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน และความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรม KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดี ที่ชายแดนใต้ เป็นการนำเสน่ห์ของผ้าพื้นถิ่นในจังหวัดปัตตานี เช่น ผ้าจวนตานี ซึ่งเป็นผ้าโบราณ มีประวัติศาสตร์ และลวดลายที่งดงามด้วยเทคนิคการแต้มสีที่เป็นเอกลักษณ์ กลับมาเผยแพร่ฟื้นฟูให้เกิดความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นปัตตานี ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ อันจะไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานผ้าพื้นถิ่นสมัยใหม่ที่ไม่ใช่แค่การออกแบบแล้วนำเสนอบนเวทีเท่านั้น แต่เป็นการนำผ้าพื้นถิ่นมาเป็นต้นแบบในการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สวมใส่ อันจะนำรายได้มาสู่ประชาชนและชุมชนต่อไป
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากในปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของข้อกำหนดการสร้างประชาคมอาเซียน จึงให้ความสำคัญกับการนำวัฒนธรรมร่วมอาเซียนมาเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแนวคิดว่าในอนาคตจะจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ โดยนำมิติของผ้าเป็นสื่อกลางให้นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศร่วมกันอีกด้วย