กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดำเนินงานตามนโยบาย 10 ข้อใน รอบ 3 เดือน เร่งพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ ระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งและกระบวนการทำงานให้ผู้รับบริการทั้งชาวต่างชาติและเน้นคนไทยให้สามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้วงการแพทย์ไทยก้าวไกลระดับสากล
นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า (26 ธันวาคม 2558) การดำเนินงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเร่งให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินงานในระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ ตามนโยบายข้อที่1.การให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยได้ดำเนินโครงการสุขศาลาพระราชทานเพื่อสืบสานตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาหน่วยพยาบาลที่มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ทุรกันดารให้เป็น “สุขศาลาพระราชทาน” เพื่อให้เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพ และให้เป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ตั้งแต่ปี 2549 และในปี 2558 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาสุขศาลาพระราชทานจากเดิมจำนวน 9 แห่ง เพิ่มเติมอีก 7 แห่ง รวมเป็น 16 แห่ง ตามนโยบายข้อที่ 4.การสร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ทำงานข้ามส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น กรม สบส. เป็นหน่วยงานหลักด้านระบบบริการสุขภาพดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและกฎหมายที่สำคัญส่งผลต่อผู้รับบริการจากสถานพยาบาลและคลินิก ดังนี้ (1.)ร่าง พรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ พ.ศ. ... (อุ้มบุญ) เพื่อใช้ในการควบคุม กำกับ กำหนดสถานะความเป็นบิดา มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะ และไม่ให้มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างของสนช. ใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าจะเสนอ สนช.พิจารณาประมาณเดือนมกราคม 2558 (2.)ร่างพรบ.ว่าด้วยสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) พ.ศ. ... บังคับใช้เพื่อกระบวนการบำบัดรักษาโรค เช่น การปลูกถ่ายเซลล์ในผู้ป่วย โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือด โดยจะทำการปลูกถ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น และต้องดำเนินการตามข้อบังคับของแพทยสภาด้วย การรักษาของจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ต้องสอดคล้องกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเกี่ยวกับสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างเสนอต่อครม.ประมาณเดือนเมษายน 2558 และ3. Medical Hub ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพของคนไทย ทั้งยังสนับสนุนเอกชนให้จัดบริการศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องใช้บุคลากร ทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน ตามนโยบายข้อที่8.การสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพโลก (Global Health) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านระบบบริการให้ผู้ป่วยต่างชาติ ตามมาตรฐานโรงพยาบาลระดับสากล (JCI) ในด้านของการให้บริการทางการแพทย์เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ลดปัญหาข้อขัดแย้ง ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการกลางไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ คณะอนุกรรมการ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เจรจาไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาททางการแพทย์ระหว่าง ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระบบไม่เกิน 90 วัน เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสถานพยาบาลและลดความเสี่ยงของการร้องเรียน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการในคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ เพิ่มความสามารถแข่งขันในการแข่งขันกับนานาชาติ โดยมี ช่องทางแจ้ง/รับเรื่องร้องเรียน 4 ช่องทางในการไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Dispute Mediation) ดังนี้ 1)Web Portal www.thailandmedicalhub.net , E-mail : medicalhub702@gmail.com 2) Call Center กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง 3) รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่านทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือช่องทางของหน่วยงานราชการอื่น 4) การแจ้งเวียนสถานทูต หน่วยงานการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชน ที่ผ่านมาตรฐานโรงพยาบาลระดับสากล (JCI)แล้ว จำนวน 37 แห่ง ตามนโยบายข้อที่ 9.การสนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร กองวิศวกรรมการแพทย์ ได้มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคนิคเครื่องส่องไฟรักษาทารกแรกเกิด (Led Phototherapy) ที่มีสภาวะตัวเหลืองได้พัฒนาแหล่งกำเนิดแสง พลังงานแสง และพื้นที่ผิวสัมผัสแสงให้มีประสิทธิภาพสูง ลดค่าใช้จ่ายและ ลดภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดและคลอดก่อนกำหนด ตามนโยบายข้อที่ 10.การพัฒนาส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรด้านสุขภาพของรัฐ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรม สบส.กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ทั่วประเทศ กว่า 87,000 คน ให้ อสม.มีหน้าที่เฝ้าระวัง สอดส่องการทำงานของภาครัฐ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่องในการปราบปรามการทุจริตในระดับชุมชนให้สังคมไทยปลอดการทุจริตอย่างยั่งยืน