กรุงเทพ--22 ส.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 21 ส.ค. 40 เวลา 12.30 น. นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงการกำจัดผักตบชวา เพื่อเปิดทางน้ำไหล ป้องกันน้ำท่วมว่า กทม. ได้เตรียมมาตรการในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ในระยะยาวให้ได้ผล เนื่องจากที่ผ่านมาการระดมกำลังเพื่อกำจัดผักตบชวาเป็นครั้งคราวจะต้องใช้งบประมาณมาก และต้องซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือกำจัดผักตบชวาอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้มาตรการที่จะแก้ปัญหามี 3 ประเด็น คือ
1. ทำแนวป้องกันที่ชัดเจนในช่องทางที่ผักตบชวาจะเข้ามาสู่กรุงเทพฯ โดยสร้างแนวป้องกันบริเวณชั้นนอกเพิ่มเติมจากที่มีแนวป้องกันในชั้นกลางอยู่แล้ว
2. ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกำจัดผักตบชวา เช่น เครื่องงับผักตบชวา บริเวณประตูน้ำที่สำคัญ
3. ให้สำนักการโยธา และสำนักงานเขตจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนซื้ออุปกรณ์และเรือเก็บผักตบชวา รวมทั้งเสริมกำลังคนเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตลอดทั้งปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าในปีต่อไปปัญหาผักตบชวาจะหมดไปจากกทม. สำหรับการแก้ปัญหาผักตบชวาเฉพาะหน้าในปีนี้ กทม. จะระดมกำลังพลโดยจ้างงานชาวบ้านและขอความร่วมมือทหารลอกผักตบชวาขึ้นเพื่อเปิดทางน้ำไหล ป้องกันน้ำท่วม
ด้านนายนิคม ปราชญ์นคร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำจัดผักตบชวาขณะนี้ กทม. มีแรงงานอยู่ประมาณ 400 คน เพื่อดูแลอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในแนวคันกั้นน้ำชั้นใน รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณให้เขตต่าง ๆ จ้างประชาชนในพื้นที่ลอกผักตบชวา จำนวน 29 ล้านบาท โดยเฉลี่ยงบฯ ไปตามเขตต่าง ๆ ส่วนการพัฒนาฟื้นฟูคลอง ผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบนโยบายให้ติดต่อสถาบัน หรือหน่วยงานต่างประเทศให้คำแนะนำและช่วยเหลือ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทางที่เหมาะสม เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับอีกโครงการหนึ่งที่เป็นโครงการต่อเนื่องในการป้องกันน้ำท่วม คือ โครงการแก้มลิงเอกชน โดยมีเอกชนจำนวน 2 ราย ให้ความร่วมมือให้ กทม. เข้าไปดำเนินการพัฒนาเป็นบึงรับน้ำและถ่ายเทน้ำคือ ที่บึงสวนสยาม และบึงตาเกต สำหรับบึงสวนสยามสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 228,000 ลูกบาศก์เมตร สำนักการระบายน้ำได้เข้าไปพัฒนาโดยสร้างทำนบและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง ส่วนบึงตาเกตกักเก็บน้ำได้ประมาณ 19,600 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้สำนักการระบายน้ำได้เตรียมสร้างทำนบ คาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ
ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนที่ตกในกทม. ในช่วงที่ผ่านมาถึงขณะนี้มีประมาณ 300 มม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำฝนทุกปีที่ผ่านมาในช่วงนี้จะมีประมาณ 1,200-1,500 มม. ทั้งนี้คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ไม่ได้ตกในช่วงนี้อาจจะไปตกในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งคงจะตกค่อนข้างมาก ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีแนวร่องความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวลงมาจากทางภาคเหนือ และอาจมีพายุโซนร้อน ดีเปรสชั่น ใต้ฝุ่น เข้ามาด้วย รวมทั้งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่น้ำเหนือไหลบ่า และน้ำทะเลหนุนด้วย ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา กทม. ได้เตรียมแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง และน้ำท่วมซ้ำซากในปีนี้แล้ว นอกจากนี้ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้สั่งการให้เตรียมการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่อีกด้วย--จบ--