กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A+” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สืบเนื่องมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่ชะลอตัวลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาด แม้ว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังโดยการลดต้นทุนและชะลอการลงทุนต่าง ๆ ออกไป แต่ราคาถ่านหินที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดส่วนเกินของบริษัทลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันโอกาสที่บริษัทจะสร้างกำไรส่วนเกินให้กลับมาอยู่ในระดับเดิมยังคงเป็นไปอย่างยากลำบากตราบใดที่การปรับลดของอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังไม่เกิดขึ้น
อันดับเครดิต “A+” สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในแถบเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินโดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก ตลอดจนภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหินได้ต่อไป วินัยทางการเงินและการบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังจะช่วยให้บริษัทยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีแม้ว่าภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงและการดำเนินงานที่ดีขึ้นของเหมืองในประเทศออสเตรเลียจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหิน
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2556 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 11% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 85% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือ 15% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 82% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557
ในปี 2556 การผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปูมีปริมาณรวม 42.4 ล้านตัน ประกอบด้วยถ่านหินจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซีย 28.6 ล้านตันและประเทศออสเตรเลีย 13.8 ล้านตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทผลิตถ่านหิน 33.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2557 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 676 ล้านตัน ในขณะที่บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 509 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตประมาณ 14 ปี
ในปี 2556-2557 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียลดลง 17.6% จากราคาขายเฉลี่ยในปี 2555 เป็น 75.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2556 บริษัทได้พยายามลดต้นทุนในหลายส่วนรวมถึงการลดค่า Stripping Ratio อย่างไรก็ตาม อัตราการปรับตัวลดลงของราคาถ่านหินมีมากกว่าการลดลงของต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ CEY (Centennial Coal Co., Ltd.) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ออสเตรเลียมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปัญหาในการผลิต ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินของบริษัทลดลงเหลือ 32.2% ในปี 2556 เทียบกับ 39.0% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การเติบโตกว่า 50% ของธุรกิจไฟฟ้า ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทได้บางส่วน ทำให้ EBITDA รวมของบริษัทลดลง 33.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ราคาถ่านหินยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ในขณะที่บริษัทยังคงดำเนินการลดต้นทุนต่อเนื่อง รวมถึงการลดอัตรา Stripping Ratio ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียลดลงเป็น 34.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 35.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน การลดลงของอัตรากำไรถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินที่ลดลง 10.3% เป็น 69.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงเวลาดังกล่าว ผลการดำเนินงานบริษัทยังได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากการดำเนินงานของเหมืองออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้นและกำไรที่สม่ำเสมอจากธุรกิจไฟฟ้า โดยเหมืองที่ออสเตรเลียหยุดการผลิตในเหมืองที่มีต้นทุนในการผลิตสูงลง และเพิ่มการผลิตในเหมืองเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินที่ออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นเป็น 29.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 24.0% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ายังคงให้กำไรสม่ำเสมอโดย EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้ามีจำนวน 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.2% ทำให้ EBITDA รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เท่ากับ 504 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความพยายามในการลดต้นทุนและการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ระดับเดิมแม้ว่าราคาถ่านหินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 52.4% ณ เดือนกันยายน 2557 ใกล้เคียงกับ 51.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่ลดลงทำให้กำไรส่วนเกินของบริษัทลดลง โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่องที่ 5.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ใกล้เคียงกับปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 11.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) เทียบกับระดับ 9.4% ในปี 2556 อัตราส่วนดังกล่าวถือว่าเป็นระดับอ่อนแอในรอบระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีเงินสดในมือ 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้คงเหลือจากสถาบันการเงินรวมจำนวนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การฟื้นตัวของราคาถ่านหินยังคงไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการปรับลดการผลิตถ่านหินของผู้ผลิตหลัก ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index ยังคงลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เทียบกับ 68.53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ในช่วงราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำ บริษัทยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสภาพคล่องทางการเงินโดยการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น และลดค่าใช้จ่ายในทุกระดับขององค์กร บริษัทยังได้ปรับลดแผนลงทุนต่อเนื่องและลดลงเหลือเพียง 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในช่วงปี 2555-2558 จากแผนเดิมที่วางงบลงทุนรวมจำนวน 1,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเน้นเฉพาะการลงทุนที่จำเป็น และการลงทุนต่อเนื่อง เช่น การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าหงสาในประเทศลาว การลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับหลังจากโครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัทชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์คือ นายศิวะ งานทวีและผู้เกี่ยวข้อง สำหรับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสาในประเทศลาว บริษัทไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลแพ่งและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนศาลฎีกาตามคำร้องของโจทก์
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BP15NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
BP165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
BANPU184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
BANPU195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
BANPU207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU207B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BANPU225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
BANPU234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BANPU247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
BANPU257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
BANPU264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
BANPU234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable