กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ปตท.
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 55.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย นาย Ali al-Naimi แถลงว่ากลุ่ม OPEC จะไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ไม่ว่าราคาจะลดลง “เพียงใด” ก็ตาม ส่งสัญญาณชัดเจนว่ากลุ่มผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำพร้อมจะใช้ความได้เปรียบของตน เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลก จากคู่แข่งขันนอกกลุ่ม
- อิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ในกลุ่ม OPEC ส่งออกเต็มกำลัง โดยในช่วงวันที่ 1-23 ธ.ค. 57 ส่งออกน้ำมันดิบปริมาณ 2.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงสถิติส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 7.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 387.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลง
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานปรับเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/57 เกินความคาดหมาย มาอยู่ที่ +5.0% จากไตรมาส 3/56 (รายงานครั้งก่อนหน้า อยู่ที่ +3.9%)
- การสู้รบในลิเบียปะทุขึ้นอีกระลอกใหญ่ ทำลายถังเก็บน้ำมันดิบที่ท่าส่งออก Es Sider ซึ่งเป็นท่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีกำลังการส่งออกน้ำมัน 340,000 บาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานยอดส่งออกน้ำมันดิบในปี 57 ลดลง 4.3% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้น 0.6% มาอยู่ที่ 10.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณการผลิตในปี 58 จะลดลง อยู่ที่ 10.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน โดยในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้ามีการซื้อขายเพียงเบาบาง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงหยุดเทศกาลปลายปี ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดมีแนวโน้มกดดันให้ประเทศผู้ผลิตปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 58 และการจัดสรรงบประมาณ อาทิ GDP ของรัสเซียอาจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ด้วยสมมติฐานราคาอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียตั้งงบประมาณขาดดุล 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ (ซึ่งคิดเป็น 89% ของทั้งหมด) ลดลง 32% ด้วยสมมติฐานราคาอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดอุปสงค์น้ำมันของเอเชียในปี 58 จะเพิ่มขึ้น 660,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีนี้ อยู่ที่ 31.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงกระตุ้นความต้องการใช้ จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.62-61.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคา WTI เคลื่อนไหวในกรอบ 53.60-57.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 54.60-58.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น จากทางการจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ย. 57 ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน โดยลดลงจากปีก่อน 33 % อยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรล อีกทั้งปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ธ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.06 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้Petrolimex บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวียดนาม ปรับลดราคาขายปลีก อาทิ น้ำมันเบนซินชนิด 95 RON ลงมาอยู่ที่ 18,480 ดองต่อลิตร (0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อลิตร) อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Ruwaisในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีแผนกลับมาดำเนินการหน่วย CDU (420,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้ หลังปิดเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิค และดำเนินการหน่วย RFCC (127,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.พ. 58 และ Reuters คาดอินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันเบนซินชนิด 88 RON ในเดือน ม.ค. 58 ลดลง 15 % จากเดือนนี้ อยู่ที่ 8.0 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.59-71.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น โดยทางการจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน พ.ย. 57 ลดลง 35 % จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเริ่มเก็บสำรอง เพื่อรองรับความต้องการใช้ในเทศกาลตรุษจีน ช่วงกลางเดือน ก.พ. 58 และ Platts รายงานความต้องการใช้Kerosene หรือน้ำมันก๊าด เพื่อทำความอบอุ่นในญี่ปุ่นเริ่มสูงขึ้น หลังหิมะเริ่มตกตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ประกอบกับมีพยากรณ์ว่าอากาศจะหนาวขึ้น ในเดือน ม.ค. 58 (Kerosene เป็นน้ำมันสำเร็จรูปในกลุ่ม Middle Distillate ที่กลั่นออกมาจากส่วนกลางของหอกลั่น อาทิ น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันทำความร้อน) อย่างไรก็ตามปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 8.0 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.35-75.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล