กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ในเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจํานวน 93,033 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 69,693 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 23,340 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 278,697 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 25,820 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 มีจํานวน 242,869 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ฐานะการคลังเดือนพฤศจิกายน 2557
1.1 รัฐบาลมีรายได้นําส่งคลัง 136,065 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 17,092 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 11.2) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเหลื่อมไปในเดือนธันวาคม ประกอบกับอุปสงค์รถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว
1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จำนวน 205,758 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 50,045 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 19.6) ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 180,660 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 51,908 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 22.3) ประกอบด้วยรายจ่ายประจํา 171,898 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.6 และรายจ่ายลงทุน 8,762 ล้านบาทสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 85.8 และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจํานวน 25,098 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.0
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สําคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น 37,878 ล้านบาท เงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม 16,280 ล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 15,070 ล้านบาท
1.3 จากรายได้นําส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขาดดุล 69,693 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 23,340 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ 8,293 ล้านบาท และรายจ่ายที่เหลื่อมมาจากเดือนตุลาคม 15,883 ล้านบาท ทําให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจํานวน 93,033 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 9,970 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 83,063 ล้านบาท
2. ฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2557)
2.1 รายได้นําส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังทั้งสิ้น 312,291 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,390 ล้านบาท (คิดเป๊นร้อยละ 6.1) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วน หนึ่งเหลื่อมไปในเดือนธันวาคม ประกอบกับอุปสงค์รถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว
2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจํานวนทั้งสิ้น 573,356
ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 59,281 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 11.5) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 525,461 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.4 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.3 และรายจ่ายปีก่อน 47,895 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.7
รายจ่ายปีปัจจุบันจํานวน 525,461 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจํา 501,875 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 23.6 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง 2,130,590 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0 และรายจ่ายลงทุน 23,586 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง 444,410 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 218.1
2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 278,697 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 261,065 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณจํานวน 17,632 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 30,500 ล้านบาท การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ 16,161 ล้านบาท การถอนเงินฝากคลังของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสุทธิ 2,698 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช?เงิน โดยชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินจํานวน 25,820 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 252,877 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 มีจํานวนทั้งสิ้น 242,869 ล้านบาท
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง
สํานักนโยบายการคลัง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 0 2273 9020 ต่อ 3563