กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอละ 1 จุด รวม 882 ศูนย์ หวังให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพมากยิ่งขึ้น เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิตสูง พื้นที่เพาะปลูกขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตที่ได้รับมีปริมาณน้อย คุณภาพต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ จึงประสบกับภาวะขาดทุน มีปัญหาหนี้สินและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งหาหนทางให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นจุดดูงานด้านการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จุดประสงค์หลักของการดำเนินการโครงการนี้ คือ เพื่อให้มีศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยวางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเกิดศูนย์เรียนรู้ฯ ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ทั่วประเทศ รวม 882 แห่ง เป็นต้นแบบและมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรจำนวน 176,400 คน หรือ 200 คนต่อศูนย์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ได้คัดเลือกจากพื้นที่นำร่องที่มีการส่งเสริมการเกษตรตามรูปแบบ MRCF คือ เป็นพื้นที่ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ คน สินค้า และข้อมูลศักยภาพการผลิต (Zoning) และกำหนดประเด็นส่งเสริมเน้นหนักหรือประเด็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ จากนั้นจึงคัดเลือกศูนย์เรียนรู้ฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนองค์ประกอบของศูนย์เรียนรู้ฯ จะประกอบด้วย 1) เกษตรกรต้นแบบ 2) แปลงเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบ 3) หลักสูตรการเรียนรู้ และ 4) ฐานการเรียนรู้
อนึ่ง ผลการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ฯ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2557 ได้แก่ 1) สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ได้ดำเนินการทบทวนจุดที่ดำเนินการศูนย์เรียนรู้ฯ ในปี 2557 ให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลศูนย์เรียนรู้ฯ จัดทำแผนการถ่ายทอดความรู้ จำนวน 882 ศูนย์ จัดกระบวนการเรียนรู้แล้ว จำนวน882 ศูนย์ เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯ จำนวน 165,885 ราย 2) การสำรวจสถานภาพการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ใน 882 อำเภอ 77 จังหวัด 3) การจัดทำแนวทางการขยายผลศูนย์เรียนรู้ฯ สู่การจัดทำแปลงใหญ่ (ตามแนวทางการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร (ด้านพืช) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) โดยได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน 200 จุด พร้อมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับจุดดำเนินการ ประกอบด้วย ข้าว 134 จุด มันสำปะหลัง 21 จุด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 จุด และผลไม้ (ทุเรียน ลำไยเงาะ มะม่วง และมังคุด) 35 จุด นอกจากนี้ ในปี 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 อีกด้วย