กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา ขานรับมติที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ จับมือ สกว. ทำบันทึกข้อตกลงพัฒนาระบบบริหารการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ชูมาตรฐานความรู้เป็นเลิศ ปั้นนักวิจัยที่รู้จริง
รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือโครงการพัฒนาระบบวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสาระจากการบรรยายพิเศษของเลขาธิการสภาการศึกษาหัวข้อ “แผนปฏิรูปการศึกษาของ คสช.” ซึ่งประเด็นความเข้มแข็งทางการวิจัย ถือเป็นเรื่องแกนสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัย ทปอ.มรภ.จึงมีตัวแทนเจรจาขอความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาระบบการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามปณิธานที่ตรงกันระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและแนวนโยบายของ สกว.ที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นติดต่อกันมาหลายปีแล้ว สาระสำคัญที่ตกลงกันในหลักการคือ ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ตั้งกองทุนวิจัยร่วมกับ สกว. โดยร่วมลงทุนคนละส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ลงทุนแห่งละ 100,000 บาท เป็นเงินรวมกัน 4,000,000 บาท สกว. สมทบให้อีก 4,000,000 บาท สำหรับดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบวิจัยและบุคลากร โดยทำงานร่วมกับ สกว. ในการสร้างนักวิจัยด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการในฐาน TCI (Thai-Journal Citation Index Centre) และสร้างความเชี่ยวชาญอาจารย์หลังปริญญาเอก ให้มีความสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารการวิจัย โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนการบริหารการวิจัยร่วมกัน การวิจัยเชิงประเด็น อาทิ ปฏิรูปการศึกษา วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างอาชีพในท้องถิ่น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า โจทย์ที่กำหนดให้ทำวิจัยเรื่องท้องถิ่น หมายถึงการโฟกัสพื้นที่ไปที่ท้องถิ่นด้วยมาตรฐานความรู้ที่เป็นเลิศ คือการรู้จริง ไม่ได้หมายความว่าความรู้ต้องเป็นระดับผิวเผิน เพราะหากรู้ไม่จริงแล้วจะทำให้การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาเป็นไปได้ยาก และอาจเพิ่มภาระให้ท้องถิ่นเสียด้วยซ้ำ สกว. เน้นการรู้จริง และพยายามหา พัฒนานักวิจัยที่รู้จริงและผูกพันกับงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เชื่อมโยงกับปรัชญา แผนกลยุทธ์ และแนวปฏิบัติของ มรภ.สงขลา ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การเข้ามาของ สกว. จะช่วยให้สามารถจัดระบบการบริหารการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.สุนทร กล่าวว่าอีกว่า จากการบรรยายของเลขาธิการสภาการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล ในหัวข้อแผนปฏิรูปการศึกษาของชาติ เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวผู้เรียน ส่งผลให้ขาดโอกาสเรียนในโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน แม้ในระดับอุดมศึกษาก็มีคุณภาพและมาตรฐานต่างกันอย่างเห็นได้ชัดดังคำกล่าวว่า คุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาสะท้อนคุณภาพครู และคุณภาพครูส่งผลต่อคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษาเสนอตัวเลขที่น่าตกใจเกี่ยวกับความสำเร็จของผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาพรวมในการหางานทำ พบว่า การรับสมัครคนเข้าทำงานโดยการดำเนินงานของ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) จากผู้สมัครทั้งหมด2000,000 คน เป็นผู้สมัครจากมหาวิทยาลัยราชภัฏประมาณ 1000,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียงประมาณ 1,000 คน หรือเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนการผลิตมากเกินความต้องการและผลผลิตไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานเมื่อเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ความเปลี่ยนแปลงสถานะจากวิทยาลัยเป็นสถาบัน และสุดท้ายเป็นมหาวิทยาลัย มิใช่เป็นเพียงเกียรติยศโดยลายลักษณ์เท่านั้น แต่มีความคาดหวังจากสังคมในคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นตามไปด้วย เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นระดับการวิจัยที่สูงตามมาด้วย เราถูกคาดหวังสูงจากสังคมใกล้เคียงคือท้องถิ่นและชุมชนสถาบันอุดมศึกษาด้วยกันในภูมิภาคเอเชียและชุมชนโลกในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด ทรัพยากรที่เกี่ยวโยงเป็นระบบให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานหมายถึงปัจจัยต่อไปนี้คือ คุณภาพอาจารย์ ผู้เรียน หลักสูตร แหล่งเรียนรู้ ระบบเครือข่าย ICT ระบบประกันคุณภาพ ความมั่นคงทางการเงิน บัณฑิตศึกษา ระบบบริหาร ฯลฯ เป็นต้น