กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ พยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปีเพาะปลูก 2557/58 และปี 2558 พร้อมเร่งพัฒนาข้อมูลในเชิงนวัตกรรม สามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการ
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ว่า จากผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปีเพาะปลูก 2557/58 และปี 2558 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ปีเพาะปลูก 2557/58 ได้แก่ ข้าวนาปี มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 61.740 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 340,404 ไร่ หรือร้อยละ 0.55 มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 27.106 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 16,261 ตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.06 เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรต้องการลดพื้นที่ดังกล่าวเพราะการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน และเกษตรกรในภาคใต้เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน ข้าวนาปรัง มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 10.709 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 4.479 ล้านไร่ หรือร้อยละ 29.49 มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 6.702 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้ว 3.046 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 31.25 เนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่าง และบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า นอกจากนี้ พืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 30.910 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.888 ล้านตัน หรือร้อยละ 2.96 และพืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และกาแฟ
นายชวลิต กล่าวต่ออีกว่า ผลการพยากรณ์การผลิตพืชไร่และไม้ยืนต้นที่สำคัญ ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน สำหรับผลการพยากรณ์การผลิตไม้ผลและพืชผักที่สำคัญ ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด กระเทียม หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง และผลผลิตที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง และหอมแดง ด้านปศุสัตว์ ผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตปศุสัตว์ ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคนม และผลผลิตที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ โคเนื้อ และด้านประมง ผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตประมง ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ และมีปริมาณผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งพัฒนาข้อมูลในเชิงนวัตกรรม ให้เป็นแนวทางใหม่ในการบริการจัดการข้อมูล ให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีการจัดทำข้อมูลของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลปริมาณการปลูกที่แท้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการ” นายชวลิต กล่าว