กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จับมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MRA) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระหว่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการฮาลาลให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมในประเทศไทย ตลอดจนศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและองค์กรเครือข่ายได้ใช้บริการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ พัฒนาการดำเนินงานด้านกิจการฮัจญ์และซะกาตให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร ในการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันในกิจการด้านอื่นๆ ตามพันธกิจของแต่ละองค์กร
อุตสาหกรรมฮาลาลถือได้ว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทย เนื่องด้วยประชากรในอาเซียนกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณกว่า 300 ล้านคนเป็นชาวมุสลิม และยังมีประชากรมุสลิมทั่วโลกอีกกว่า1,800 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก ที่มีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นที่อนุมัติ (HALAL) ตามหลักศาสนาอิสลาม อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEsในอุตสาหกรรม HALALโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อการส่งออกให้มีความพร้อมและรองรับการแข่งขันในตลาดสากล
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งสี่หน่วยงานต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย ในด้านต่างๆ อาทิ การให้บริการด้านการเงินที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์แก่พี่น้องมุสลิมและประชาชนทั่วไป ทั้งทางด้านสินเชื่อ เงินรับฝาก การเผยแผ่หลักการศาสนาอิสลาม ด้านสาธารณประโยชน์และสังคมสงเคราะห์ ด้านกิจการฮัจญ์และซะกาต การส่งเสริมและพัฒนากิจการฮาลาล และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ทั้งสี่หน่วยงานมีพันธกิจที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกันหลายประการ ความร่วมมือดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย ตลอดจนขับเคลื่อนธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมฮาลาล และธุรกรรมในด้านต่างๆ ของชาวมุสลิม อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของทั้งสองหน่วยงาน และการพัฒนาวิถีชีวิตและสังคมมุสลิมโดยรวม