รัฐบาลเพิ่มวงเงินค่ารักษา “ผู้ประสบภัยจากรถ” 3 หมื่นบาท มีผลใช้ตั้งแต่ 25 ธ.ค.57

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง รัฐบาลประกาศขยายวงเงินรักษาพยาบาล “ผู้ประสบภัยจากรถ” เป็น 30,000 บาท ช่วยประชาชนให้ได้รับการคุ้มครองเพิ่ม แถมลดภาระกองทุนรักษาพยาบาลจ่ายค่าส่วนต่าง พร้อมประสานโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย เริ่ม 25 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป วันนี้ (30 ธันวาคม 2557) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความเสียหายที่จะให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น การร้องขอรับและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยจากรถในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีความเสียหายต่อร่างกาย กำหนดให้ได้รับจากวงเงินเดิมจำนวนเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน และเมื่อรวมกับความเสียหายต่อชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะ ที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน 35,000 บาทต่อคน รวมแล้วจะมีวงเงินความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นสูงสุด คนละไม่เกิน 65,000 บาท โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป นายวิสุทธิ์กล่าวว่า การปรับเพิ่มวงเงินรับค่าเสียหายของผู้ประสบภัยจากรถนี้ นอกจากเป็นการเพิ่มประโยชน์การคุ้มครองให้กับประชาชนที่ประสบภัยจากรถมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรถที่ไม่มีการทำประกันภัย หรือถูกชนแล้วหนี ทั้งนี้จากการคำนวณภาระต้นทุนในการปรับเพิ่มรับค่าเสียหายเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถนี้ คาดว่าจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประมาณ 609 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทเอกชน 595 ล้านบาท และภาระกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ 14 ล้านบาท “ขณะนี้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้เตรียมความพร้อมในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าว และดำเนินการได้ทันที โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา และการปรับเพิ่มวงเงินรับค่าเสียหายในครั้งนี้ เป็นการปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้ประสบภัยจากรถยังคงจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในจำนวนเท่าเดิม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว ด้านนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินการขยายวงเงินความคุ้มครองประชาชนที่ประสบภัยจากรถครั้งนี้ ได้เริ่มต้นดำเนินการในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งพบสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรสูงกว่าช่วงปกติ เนื่องจากประชาชนจะเดินทางกลับบ้าน หรือร่วมงานฉลองเทศกาลปีใหม่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนรักษาพยาบาลในระบบต่างๆ กรณีที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ทั้งระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังลดความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายโดยกระทรวงสาธารณสุขจะประสานไปยังโรงพยาบาลในสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้ดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนผู้ประสบภัยจากรถตามหลักเกณฑ์ประกาศฉบับใหม่นี้ นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองประชาชนเมื่อประสบอุบัติเหตุขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามในเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจร โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข ตั้งด่านชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ และในปีนี้ให้เพิ่มการแจ้งเหตุกรณีพบเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินการกับผู้จัดงานเลี้ยง เจ้าของร้านหรือสถานบริการ จะต้องรับผิดชอบ โดยผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลทุกเทศกาล พบร้อยละ 84 ของผู้เสียชีวิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ