การสังเคราะห์เซลล์ผลิตอินซูลินจากเซลล์ลำไส้มนุษย์

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2015 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การสังเคราะห์เซลล์ผลิตอินซูลินจากเซลล์ลำไส้มนุษย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้วเกือบ 400ล้านคน และ 20 ล้านคน เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในอดีตโรคนี้มักจะเป็นในกลุ่มคนที่มีอายุมากแต่ทุกวันนี้ตัวเลขอายุของผุ้ป่วยโรคเบาหวานลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในเรื่องการรักษานั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องกินยาเพื่อควบคุมอาการ หรือฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายไปตลอดชีวิต ดร. ฌีวาตรา ตาลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา ประจำสำนักคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เติบโตมาในหมู่ญาติพี่น้องที่ล้วนเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน ให้ความสำคัญ กับแนวทางการรักษาโรคเบาหวานอย่างมาก และได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ “การสังเคราะห์เซลล์ผลิตอินซูลินจากเซลล์ลำไส้” มาอย่างต่อเนื่อง “ถ้าเกิดคุณมีลูกหลานที่เป็นเบาหวาน ชนิดที่หนึ่ง ซึ่งส่วนมากพบในเด็กลองคิดสภาพ ที่ต้องใช้เข็มฉีด อินซูลิน ให้เด็กทารก ขวบ สองขวบ เช้า กลางวัน เย็น และ เด็กตัวเล็กๆ เขาก้อไม่มีวิธีสื่อสาร ว่าปริมาณที่ ฉีดมันมาก หรือ น้อยเกินไป และ พ่อแม่ ก้อต้องลองผิด ลองถูก ไม่รู้ว่าทำให้ลูกดีขึ้น หรือแย่ลง มันเป็นสิ่งที่สะเทือนใจ มากค่ะ คนเป็นโรคเบาหวานเพราะตับอ่อนที่เป็นแหล่งผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในร่างกายไม่ทำงาน ซึ่งตับอ่อนก็เหมือนสมองที่ไม่สามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนถ่ายใหม่ได้ เสื่อมแล้วเสื่อมเลย จึงต้องพึ่งยาหรือฉีดอินซูลินเข้าร่างกายเพื่อเป็นการรักษา แต่เราคิดว่ามันมีแนวทางรักษาที่ให้ผลดีขึ้นกว่านั้นด้วยการหาอวัยวะอื่นในร่างกายที่มีเซลล์ที่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ มาทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลินแทนตับอ่อน นั่นก็คือ เซลล์ลำไส้ ซึ่งเหมาะสมมาก เพราะ ผู้ป่วยไม่ต้องฉีดอินซูลิน และ อินซูลินที่หลั่งตรงความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นหัวใจของการวิธีรักษาที่ดีที่สุดค่ะ” ดร.ฌีวาตรา กล่าว ดร.ฌีวาตรา ได้กล่าวต่อว่า การทดลอง นี้เริ่มทำร่วมกับ Professor Domenico Accili ที่ Columbia University ที่ เมือง นิวยอร์ค ประเทศ สหรัฐฯ ในระยะแรกมาแล้วว่าอินซูลินที่หลั่งออกมาจากเซลล์ลำไส้นั้นสามารถทำให้ร่างกายของสัตว์ทดลองที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีอาการดีขึ้นได้ และจากการทดลองนั้นได้ผลที่ทำให้รู้ว่ามียีนตัวหนึ่งในเซลล์ลำไส้ของสัตว์มีกระดูกสันหลังทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้เซลล์ลำไส้ผลิตอินซูลิน แต่จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ตรงกันข้ามเพราะต้องการให้เซลล์ลำไส้ผลิตอินซูลินได้ ได้ทำการทดลอง พิสูจน์ ต่อเนื่องว่า อินซูลิน จากลำไส้ออกฤทธิ์ ลดระดับน้ำตาลในเลือดจริง และ เซลล์ลำไส้หลั่งอินซูลินในปริมาณที่สอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือด ไม่มากเกินไป เพราะ ถ้ามากเกินไป น้ำตาลใน เลือดจะต่ำเกิน และ เป็นภาวะอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่นเดียวกัน และ ที่สำคัญ เซลล์อินซูลินในลำไส้ สามารถสร้างตัวเองทดแทนใหม่เรื่อยๆ เหมือนกับเซลล์ลำไส้ทั่วไป จึงสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่ เซลล์ผลิตอินซูลินในตับอ่อนได้ตายไป หรือ เสื่อมสภาพ ดังนั้น ที่ มจธ. งานวิจัยที่กำลังทำ เป็นการต่อยอด ว่า สิ่งที่พิสูจน์ในสัตว์ทดลองจะใช้ได้ในคนจริงหรือไม่ จึงได้เริ่มการทดลองกับเซลล์ลำไส้ของมนุษย์แต่เป็นการทดลองในระดับหลอดทดลองเท่านั้น “สิ่งที่เราต้องศึกษาคือการตั้งสมมติฐานจับสารเคมีที่มีฤทธิ์ไปหยุดการทำงานของยีนตัวนี้ ในเซลล์ลำไส้ที่มันยับยั้งการผลิตอินซูลิน เพื่อเปลี่ยนให้เซลล์ลำไส้กลายเป็นเซลล์ที่ผลิตอินซูลินได้ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเร่งศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลอย่างเป็นทางการว่าสารใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และสามารถเปลี่ยนเซลล์ให้สามารถผลิตอินซูลินได้มากน้อยอย่างไร เพื่อพัฒนาต่อและนำไปผลิตเป็นยาสำหรับการรักษาโรคเบาหวานต่อไปในอนาคต แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเนื่องจากการจะผลิตยาเพื่อใช้กับมนุษย์นั้น ต้องผ่านกระบวนการรับรองผลทางการแพทย์อีกหลายขั้นตอน” อย่างไรก็ตามในอนาคตหากกระบวนการวิจัยจบและยาตัวนี้สามารถผลิตออกมาใช้ในวงการแพทย์ได้แล้ว จะถือเป็นเรื่องน่ายินดีและพลิกโฉมอุตสาหกรรมยาโรคเบาหวานอย่างมาก เพราะการออกฤทธิ์ของยาต่างออกไปจากเดิม ไม่ได้ไปควบคุมปริมาณน้ำตาลในร่างกายเพียงชั่วคราวเหมือนกับยาในปัจจุบัน แต่เปรียบเสมือนการสร้างอวัยวะชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่หลั่งอินซูลินแทนตับอ่อนที่เสื่อมไป และยังทำหน้าที่ได้เหมือนกันเพราะโดยปกติแล้วอวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนได้จะมีเซ็นเซอร์เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตฮอร์โมนให้เหมาะสมกับสภาวะในร่างกาย เช่นเดียวกันตับอ่อนและลำไส้ก็มีเซ็นเซอร์ที่คอยส่งสัญญาณให้เซลล์หลั่งอินซูลินออกมาอย่างเหมาะสมกับปริมาณน้ำตาลในร่างกายเช่นกัน ดังนั้นหากงานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สามารถใช้ยานี้เพื่อฟื้นฟูความบกพร่องของกลไกในร่างกายได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเนื่องจากลำไส้คล้ายกับผิวหนังของมนุษย์ที่มีการผลัดเปลี่ยนเซลล์ใหม่ทุกๆ หนึ่งสัปดาห์ถ้าโชคดีผู้ป่วยอาจไม่ต้องทานยาทุกวันๆ ละ 3 มื้อเหมือนปัจจุบันแต่ทานแค่สัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อให้เข้ากับกระบวนการผลัดเซลล์ของลำไส้ก็เป็นได้ ลูกหลาน ตัวเล็กๆ ก้อไม่ต้องทรมานกับการฉีดอินซูลินอีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ