ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกล่าสุด: ผลกระทบอียูตัดจีเอสพี และ ประเด็นร่าง รธน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 5, 2015 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 ขยายตัวได้ประมาณ 2.2-2.7% ทั้งปียังยืนยันเติบโตได้มากกว่า 4% ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีของอียูและต้องปรับตัวขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริการที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นอย่างมีขีดจำกัด ภาคการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากมีเสถียรภาพการเมือง ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง เงินเยน เงินสกุลหลักเอเชียอ่อนค่า เงินบาทอ่อนค่าในสัดส่วนที่ลดลง อาจมีการแข่งขันกันลดค่าเงิน เงินยูโรอ่อนค่า เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ราคาสะท้อนอุปสงค์อุปทานในตลาดโลกมากขึ้นหลังสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ตลาดหุ้นอาจเผชิญแรงเทขายจากกองทุนต่างๆโดยเฉพาะกองทุนต่างชาติ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจรัสเซียและค่าเงินรูเบิ้ลอาจขยายวงกระทบยุโรป โอกาสของนักวิชาชีพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้การเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงานของ AEC ขณะเดียวกันมาตรฐานแรงงานของผู้ประกอบการไทยต้องยกระดับดีขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มทุนไทยในการขยายการลงทุนไปยังประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ประเมินความเสี่ยงและโอกาสช่วงไตรมาสแรก เสนอแนะเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพภาคเกษตร ลงทุนด้วยเงินทุนและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทะยอยลงกำลังแรงงานภาคเกษตร เพิ่มกำลังแรงงานในภาคบริการและภาคการผลิตอุตสาหกรรม 4 ม.ค. 2558 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 ขยายตัวได้ประมาณ 2.2-2.7% และยืนยันตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีที่ 4% ตามการคาดการณ์ไว้เดิม (เมื่อเดือน พ.ย. 2557) ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีของอียูและต้องปรับตัวขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นแต่มีขีดจำกัดจากหนี้ครัวเรือน ขณะที่การปรับเพิ่มผลประโยชน์และเงินเดือนให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยจะมีผลกระตุ้นการบริโภคระดับหนึ่งและเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนการเพิ่มบำนาญให้ข้าราชการเกษียณชั้นผู้น้อยจะมีผลต่อการกระตุ้นการบริโภคน้อยมากแต่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ภาคการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากระบบการเมืองมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง เงินเยน เงินสกุลหลักเอเชียอ่อนค่า เงินบาทอ่อนค่าในสัดส่วนที่ลดลง อาจมีการแข่งขันกันลดค่าเงิน เงินยูโรอ่อนค่า เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ราคาสะท้อนอุปสงค์อุปทานในตลาดโลกมากขึ้นหลังสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญแรงเทขายจากกองทุนต่างๆโดยเฉพาะกองทุนต่างชาติ ดัชนีอาจปรับลดลงในช่วงสั้นๆตอนต้นปีหลังจากนั้นน่าจะเข้าสู่ขาขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจรัสเซียและค่าเงินรูเบิ้ลอาจขยายวงกระทบยุโรปซึ่งเป็นเจ้าหนี้และคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย โดยเศรษฐกิจรัสเซียอาจจะหดตัวติดลบถึง 4-5% ในปี พ.ศ. 2558 กระทบต่อภาคส่งออกไทยไม่มากจากสัดส่วนการส่งออกไปรัสเซียเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งหมดเพียง 0.5% การส่งออกไทยไปรัสเซียหดตัวติดลบไม่ต่ำกว่า 15% (คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 4,480-4,800 ล้านบาทเท่านั้น) แต่กระทบการท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าไทยอาจลดลงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน (ลดลงประมาณ 24% คิดเป็นรายได้ที่หายไปประมาณ 21,000 ล้านบาท) ผศ. ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่จะต้องจับตาในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากผลกระทบการตัดจีเอสพีของอียูต่อไทย เป็นการตัดสิทธิจีเอสพีทุกรายการ คาดกระทบต่อมูลค่าส่งออกที่เคยได้จีเอสพีประมาณ 1 แสนล้านบาท (การส่งออกสินค้าไทยไปอียูภายใต้สิทธิจีเอสพีอยู่ที่ประมาณ 9,000-9,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี) สินค้าที่ได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ คือ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ ถุงมือยาง ยางนอกรถยนต์ เลนส์แว่นตา เป็นต้น ผู้ประกอบการต้องแสวงหาตลาดใหม่โดยเฉพาะ AEC และ ย้ายฐานการผลิตไปยัง CLMV เพื่อใช้สิทธิจีเอสพี 2. ความผันผวนของตลาดการเงิน 3. ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองอันเป็นผลจากการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือการไม่สามารถกำหนดการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาเอาไว้อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ 4. ภาวะตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร โอกาสเกิดจาก 1. ปัจจัยราคาน้ำมันขาลงทำให้ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการลงทุนลดต่ำลง เป็นโอกาสแห่งการลงทุน 2. โอกาสจาก AEC โอกาสของนักวิชาชีพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้การเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงานของ AEC ขณะเดียวกันมาตรฐานแรงงานของผู้ประกอบการไทยต้องยกระดับดีขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มทุนไทยในการขยายการลงทุนไปยังประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV โอกาสในการรองรับการลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะธุรกิจโลจีสติกส์ 3. โอกาสของธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปิดประมูล 4 G ,กิจการทางการแพทย์และสุขภาพ High End, ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนส่งและโลจีสติกส์เป็นต้น 4. โอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจ 5. การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ จะสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นซึ่งจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงินบาท เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 6. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น มีผลทำให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน และเกิดภาวะ Yen Carry Trade และ Euro Carry Trade ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า เราอาจต้องเผชิญภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะไตรมาสแรก ผมขอเสนอแนะให้มีนโยบายและมาตรการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพภาคเกษตร ลงทุนด้วยเงินทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น ทะยอยลดกำลังแรงงานภาคเกษตรลง เพื่อเคลื่อนย้ายมายัง ภาคบริการและภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้มากพอจากภาคเกษตรกรรมและไม่ต้องทิ้งไร่นา ทิ้งครอบครัว มาหาอาชีพเสริมรายได้เสริมจากการทำงานนอกภาคเกษตร โครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยในปีปัจจุบันมีความแตกต่างจากโครงสร้างเมื่อสองสามทศวรรษที่แล้วอย่างชัดเจน โดยข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2556-2557) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 38.1% มีสัดส่วนกำลังแรงงาน 13.8% ภาคบริการค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนต่อจีดีพี 13.4% มีสัดส่วนกำลังแรงงาน 15.3% ภาคการบริการขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนต่อจีดีพี 10.2% สัดส่วนต่อกำลังแรงงาน 2.7% ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 8.3% เท่านั้น (จำเป็นต้องแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรมากกว่านี้) ขณะที่สัดส่วนต่อกำลังแรงงานของภาคเกษตรกรรมสูงถึง 39.1% สะท้อนว่า ใช้ปัจจัยแรงงานจำนวนมากแต่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย จึงต้องใส่ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มเนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะนี้ รายได้ของคนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมต่ำเพราะผลิตภาพต่ำ มูลค่าของผลผลิตต่ำ การใช้นโยบายพยุงราคาหรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (จำนำ ประกันหรือจำนำยุ้งฉาง) จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้นและสร้างภาระงบประมาณในระยะต่อไป มาตรการแจกเงินต่อไร่ก็เป็นเพียงบรรเทาปัญหาเดือดร้อนเท่านั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี พ.ศ. 2558 ภาคการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเดินหน้าผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชน ลดขั้นตอนในการขออนุญาต ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการเรียกรับสินบน ส่วนการลงทุนภาครัฐควรมีปฏิรูประบบและกระบวนการงบประมาณ เนื่องจากระบบงบประมาณเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ19 ของจีดีพี มีการจ้างงานโดยตรงไม่ต่ำกว่า 3 ล้นคน ความซับซ้อนของระบบงบประมาณ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากการมี กองทุนหมุนเวียนซึ่งมีการบริหารจัดการนอกงบประมาณ (Nonbudgetary Process) นับร้อยแห่ง นอกนี้ยังมีการใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal measures) จำนวนมาก รวมทั้งมาตรการยกเว้นลดหย่อนภาษีจำเป็นต้องระบุวงเงินให้ชัดเจน ผมจึงเสนอให้มีพัฒนากลไกเพื่อให้มีการใช้งบประมาณดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส นอกจากนี้ควรศึกษาจัดตั้ง สำนักงบประมาณภายใต้รัฐสภา (PBO, Parliamentary Budget Office) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร การเปลี่ยนแปลงงบประมาณฐานกรม เป็นงบประมาณฐานกระทรวงและฐานพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ (Participatory Budgeting) ข้อเสนอในการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้มากยิ่งกว่าการมัววิตกกังวลต่อความผันผวนเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการและนโยบายระยะยาวที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตบนฐานนวัตกรรมและการลงทุน มีพลวัตตอบสนองต่อความผันผวนจากภายนอก เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเป็นธรรมภายใต้ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ