กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--IR network
TPCH เฮลั่น!! รับอานิสงส์ กพช. เตรียมกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่จากระบบ Adder เป็น Feed in Tariff ด้านผู้บริหารหนุ่มไฟแรง “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” เผยหากเปลี่ยนระบบรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่จริง ช่วยคืนทุนเร็วขึ้นกว่าเดิมแถมทำให้มีเงินไปลงทุนในโครงการใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและช่วยหนุนให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น พร้อมประเมินช่วยเสริมศักยภาพอัตราการทำกำไรสุทธิของบริษัทให้ดีขึ้นเกือบเท่าตัว เหตุราคารับซื้อไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าในระบบปัจจุบัน ส่วนโบรกเกอร์ออกรีเสิร์ชระบุธุรกิจพลังงานชีวมวลรับผลดี หากใช้ระบบ Feed in Tariff
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยมีความคิดเห็นเป็นบวกต่อมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff (FiT) โดยระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นการคัดกรองให้เหลือเพียงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเท่านั้นในตลาด ขณะที่ในภาพใหญ่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวและเป็นมิตรกับทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยระบบ FiT จะทำให้โซล่าร์ฟาร์มใหม่ จะได้รับผลตอบแทน IRR ลดลง 13.1% (เหลือ 12.2%) พลังงานลมจะลดลง 4.5% (เหลือ 12.3%) ส่วนชีวมวลแทบจะไม่ลดลง ทรงตัวได้ที่ 19.7% ซึ่งข้อดีของราคารับซื้อแบบนี้คือเป็นการสะท้อนต้นทุนการพัฒนาที่ต่ำลงของโรงไฟฟ้าได้ดีขึ้น
ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ให้ความเห็นต่อกรณีที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งจะมีราคารับซื้อแน่นอนตามระยะเวลาสนับสนุนโครงการ 20-25 ปี แตกต่างจากระบบก่อนหน้า (Adder) ซึ่งราคารับซื้อจะเคลื่อนไหวไปตามค่าไฟฐาน (Base Tariff ) บวกค่า Ft ทั้งนี้รูปแบบใหม่จะมี FiT premium เป็นระยะเวลา 8 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมในระบบ Adder ที่จะมีเงินอุดหนุนเป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประเภทชีวมวล ว่าหากนำมาใช้จริงจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ อย่างมาก โดยก่อให้เกิดปัจจัยบวกให้เห็นเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน
“ จากแผนธุรกิจของบริษัทที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกกะวัตต์ เป็น 150 เมกกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปี จะส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต นอกจากนี้คาดว่าอัตรากำไรสุทธิโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทจะดีขึ้นกว่าเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้หากนำระบบ Feed in Tariff มาใช้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าชีวมวลเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชนิดอื่น โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 24 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 8,000 ชั่วโมงต่อปี ตราบเท่าที่มีเชื้อเพลิงในการดำเนินการซึ่งการที่เรามีพันธมิตรที่สามารถเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิง ได้แก่ นราพารา หรือ กลุ่ม วู้ดเวอร์ค เอ็นเนอร์ยี ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนักลงทุนจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอพิเศษ ที่ได้รับส่วนเพิ่มเติมพิเศษในรูป Feed in Tariff Premium อีก 0.50 บาท ตลอดอายุโครงการ ซึ่งแต่ก่อนเคยได้รับส่วนเพิ่มเติมจาก Adder ปกติเมื่อก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ อีก 1.00 บาท เป็นเวลาเพียง 7 ปี ปัจจุบัน TPCH ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟส 1 มี 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 40 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการมหาชัย กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สมุทรสาคร 3.โครงการทุ่งสัง กรีน ที่ จ.นครศรีธรรมราช และ 4.โครงการแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ที่ จ.นครสวรรค์ โดยโครงการที่ดำเนินการแล้วคือโครงการช้างแรก ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนเฟส 2 เป็นโครงการในอนาคตมี 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 60 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย โครงการ พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.พัทลุง 2.โครงการ ปัตตานี กรีน ที่ จ.ปัตตานี และ 3.โครงการ สตูล กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สตูล รวมมีกำลังการลิตทั้งสิ้น 100 เมกกะวัตต์
นายเชิดศักดิ์ กล่าวโดยสรุปว่าบริษัทจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมั่นใจว่าหุ้นของบริษัทมีความคุ้มค่าแก่การลงทุนด้วยปัจจัยสนับสนุนได้แก่ 1.แผนธุรกิจที่ชัดเจนในการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกกะวัตต์ เป็น 150 เมกกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีจากนี้ และ 2.การสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff