TPCH มั่นใจเทรดวันแรกไม่ทำให้ผิดหวัง ธุรกิจพลังงานชีวมวลอนาคตรุ่ง รับอานิสงส์บวกจากระบบซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Feed in Tariff ตั้งเป้า 3-5 ปีข้างหน้า เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 150 MW ลุยซื้อกิจการทั้งใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 7, 2015 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--IR network ผู้บริหาร TPCH “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” มั่นใจเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรก 8 ม.ค.58 ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง ชูปัจจัยพื้นฐานแกร่ง-อนาคตไกล ได้รับอานิสงส์ หากเปลี่ยนรูปแบบการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าระบบใหม่เป็น Feed in Tariff เชื่อช่วยหนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้สูงขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง หรือ 8,000 ชั่วโมงต่อปี ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนเตรียมนำไปลงทุนขยายธุรกิจและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน วางเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปี พร้อมลุยซื้อกิจการพลังงานทั้งในและต่างประเทศ นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ เปิดเผยว่ามั่นใจว่าในวันแรก (8 มกราคม 2558) ที่หุ้น TPCH เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จะสามารถยืนเหนือราคาไอพีโอที่ 12.75 บาทต่อหุ้นได้ เนื่องจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงที่เปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น มีความต้องการเข้ามามากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับนักลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมั่นใจในธุรกิจพลังงานชีวมวลและศักยภาพการเติบโตของบริษัทในอนาคต การกำหนดราคาหุ้นไอพีโอที่ 12.75 บาท/หุ้น ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้การกำหนดราคาหุ้นดังกล่าวยังไม่ได้รวมปัจจัยบวกจากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff (FiT) จากระบบก่อนหน้า (Adder) จึงอาจถือได้ว่าเป็นการเพิ่มส่วนลดให้กับนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นไอพีโอของ TPCH อีกด้วย “อยากอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่าธุรกิจพลังงานทางเลือกเป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุน เพื่อสร้างกระแสรายได้ในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและบริษัทที่ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกส่วนใหญ่ตอนแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์จะมี P/E อยู่ในระดับสูง เพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้น พอโครงการต่างๆ สร้างเสร็จ P/E ก็จะค่อยๆ ลดลง เพราะธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้ามีรายได้และกำไรที่แน่นอนในระยะยาว เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ก็จะทำให้มีเงินทุนในการไปลงทุนได้อีกด้วย เพราะสามารถคืนทุนได้เร็วขึ้น” นายเชิดศักดิ์ กล่าว ส่วนการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจ รวมไปถึงการก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2560) เป้าหมายบริษัทประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 100 เมกะวัตต์ 2.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 80 เมกะวัตต์ สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว 5 ปี (ภายในปี 2562) ประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 150 เมกะวัตต์ และ 2.เข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งในและต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ