กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ตีฆ้องร้องป่าว
เด็กไทยมีปัญหาด้านโภชนาการในทุกมิติ พบอาหารกลางวันนักเรียนยังไม่ได้มาตรฐานแม้รัฐทุ่มงบเกือบ 25,000 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียนเติบโตสมวัย พบบางแห่งยังได้ไม่ถึง 20 บาทต่อมื้อ แนะท้องถิ่นตั้งกรรมการตรวจสอบและนำสเปคการจัดอาหารตามมาตรฐานโภชนาการมาใช้ พร้อมหนุน อปท.สร้างครัวกลางและจ้างนักโภชนาการประจำตำบล
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักเรียนไทยมีปัญหาด้านโภชนาการในทุกมิติ เช่น เด็กอ้วนเฉลี่ยร้อยละ 9.5 เด็กผอม-เตี้ย ร้อยละ 7 ขณะที่ไอคิวและอีคิวที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากภาวะโภชนาการและเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งจากการสำรวจนักเรียนใน 33,000 โรงเรียน พบว่าเด็กไทยมีอีคิวต่ำกว่าร้อย โดยพบในเด็กอ้วนมากกว่าร้อยละ 10 ส่วนเด็กผอมเตี้ยไอคิวต่ำมีมากถึงร้อยละ 9.8 ถือว่าต่ำมากในอาเซียน ดังนั้นทางกรมอนามัยจึงให้ความสำคัญกับโภชนาการเด็กเป็นอันดับต้นๆ และในโอกาสวันเด็กแห่งชาติจึงขอให้ชุมชน โรงเรียน ร่วมกันดูแลเด็กๆ ลดอาหารหวานมันเค็มเพื่อให้เด็กๆ โตสมวัย
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ทางกรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยมี แนวทางในการหนุนเสริมและเฝ้าระวังการบริหารจัดการคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมกับเสนอ 4 แนวทางให้ท้องถิ่นดำเนินการ คือ 1) จัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือนักโภชนาการจากโรงพยาบาล, เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ 2) นำมาตรฐาน (Spec) การจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยมาใช้ในการจัดซื้อหรือจ้างเหมาบริการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน 3) มีการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการนักเรียนทุก 6 เดือน โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการติดตามทุกเดือน และ 4) มีการควบคุม กำกับ ติดตาม การดำเนินงาน ทุก 6 เดือน
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานอย่างต่อเนื่องตามโครงการ ทำให้สังคมมองเห็นปัญหาภาวะโภชนาการของเด็กไทยมากขึ้น ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการจากวันละ 13 บาทต่อคน เพิ่มเป็นวันละ 20 บาทต่อคน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ซึ่งใช้งบประมาณเกือบสองหมื่นห้าพันล้านบาท (24,775,999,200 บาท) ส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศประมาณหกล้านคน (จำนวน 5,800,469 คน) ได้รับประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามหากจะให้งบประมาณเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะรับไปบริหารจัดการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก
“จากการติดตามงานของกรมอนามัยพบว่ามีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้รับการโอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาทจาก อปท.หรือโอนเงินล่าช้ามาก ทำให้นักเรียนขาดโอกาส ไม่ได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ทางโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใคร่ขอวิงวอนให้ อปท.โอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาทให้ทันเวลา เพื่อนักเรียนจะได้กินอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมตามวัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ส่วนโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ร่วมโครงการกว่า 500 โรงเรียนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการอาหารและโภชนาการไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อาหารกลางวันนักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการสุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัย ทำให้ภาวะเตี้ยในนักเรียนลดลง 1.3 เท่า จากร้อยละ 6.0 ในปี 2552 ลดลงเหลือร้อยละ 4.7 ในปี 2556 ส่วนภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับคงที่ คือร้อยละ 11. แต่ถ้าหากมีการควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้ตามมาตรฐานร่วมกับการส่งเสริมพฤติกรรมการกินอาหารลดหวานมันเค็ม เพิ่มการกินผักผลไม้ และการออกกำลังกายของนักเรียนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากกว่านี้ เชื่อว่าภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในนักเรียนจะลดลงได้ตามเป้าหมายของประเทศ คือไม่เกินร้อยละ 10
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวตอนท้ายว่า ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียน กรมอนามัยได้ค้นพบรูปแบบในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิผล คือการมีครัวกลาง หรือครัวประจำท้องถิ่นที่มีแม่ครัวและนักโภชนาการประจำอยู่ โดยนำงบประมาณทั้งหมดมารวมกัน และควบคุมคุณภาพเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เมื่อปรุงอาหารเสร็จก็จัดส่งไปตามโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดต้องการแนวปฏิบัตินี้ ทางกรมอนามัยยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ทาง สสส. ได้ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นภาคีกับกรมอนามัยโดยตลอด เพราะ สสส.มีเป้าหมายและตัวชี้วัดการส่งเสริมภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กวัยเรียนไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมา สสส. และกรมอนามัยได้ร่วมกันค้นหานวัตกรรมและรูปแบบการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียน โดยเน้นบทบาทของชุมชนและท้องถิ่น ให้เป็นเจ้าของและใช้ทรัพยากรของตนเองมาบริหารจัดการให้เด็กในชุมชนได้รับการดูแลด้านโภชนาการ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ค้นพบและอยากผลักดันให้ทุก อปท. และชุมชน ขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั่วประเทศนั้นมีมากมายหลายชิ้นงาน แต่ที่ต้องเร่งรัดคือ 1) พัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นและชุมชนให้มีความตระหนักและมีศักยภาพในการบริหารจัดการงานโภชนาการในชุมชน 2) เร่งรัดการพัฒนาคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างจริงจัง โดยการส่งเสริมให้มีครัวกลางในท้องถิ่นที่มีความพร้อม และจัดจ้างให้มีนักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในระดับตำบล และเทศบาล 3) ควรบรรจุงานอาหารและโภชนาการเข้าไว้ในแผนพัฒนาตำบลและหันมาลงทุนสร้างลูกหลานตนเองให้มีโภชนาการสมวัย ไม่ผอม เตี้ย อ้วน อีกต่อไป