กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เยาวชนไทยปี 2558 ยังถูกสิ่งยั่วยุรอบด้าน ยากที่จะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนรู้เท่าทัน “ความคิด” และ “ความต้องการ” ของตัวเอง ส่งผลให้ชีวิตขาดความสมดุล เพราะมี “ความอยาก” เป็นตัวนำ ยังโชคดีที่มี "วัยรุ่นไทย" จำนวนหนึ่งสามารถสร้างสมการความสุขคือการรู้จัก "พอ" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวัยรุ่นไทยกลุ่มนี้ได้รับการบ่มเพาะจากครูและโรงเรียนให้เห็นคุณค่า ความสำคัญ ตลอดจนวิธีการนำมาใช้ในชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นผ่านการสอดแทรกสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน และการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจากการทำโครงงาน มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงขอนำเรื่องราวดีๆ ของพวกเขาบางส่วนมาแบ่งปัน ...
"น้องแก้ว" ทิพย์มณี มีจิตร นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนห้วยยอด โรงเรียนขนาดใหญ่ประจำอำเภอในจังหวัดตรัง เล่าว่า "พอ" ของเธอคือความเหมาะสม เพราะสิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่สุด แต่สิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือสิ่งที่ใช่ และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเรา การได้เรียนรู้และใช้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตทำให้แก้วคิดก่อนทำเสมอว่าสิ่งที่ทำมีครบ "3 ห่วง" เหตุผล - พอประมาณ - ภูมิคุ้มกัน และ "2 เงื่อนไข" ความรู้ - คุณธรรม หรือไม่ ถ้ามี สิ่งที่เราทำก็จะมีทั้งความเหมาะสม และมีความพอดีในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ครอบคลุมใน 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ/วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
"ตัวแก้วเปลี่ยนไปนะ แก้วมีความสุขมากขึ้น จากเมื่อก่อนจะใช้ชีวิตแบบเส้นตรง เราเป็นไม้บรรทัด เมื่อมารู้จักเศรษฐกิจพอเพียงก็ทำให้เราเป็นคนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รู้จักปรับมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่พอมาทำตรงนี้จึงรู้ว่าเวลาเรามีปัญหา บางครั้งเราก็แก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้ ต้องผ่อนปรน และรับฟังคนอื่นบ้าง" น้องแก้วเล่า
ถัดมาที่ "น้องโจ" สหรัฐ ตัดสายชล "น้องบู" วรานันทน์ ศรีเต้ง และ "น้องจอย" ศิริพร นวลสีทองจากชุมนุมเครื่องบินเล็ก โรงเรียนรัษฎา จังหวัดตรัง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่าสิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงมากขึ้นหลังรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงคือเรื่อง “คุณธรรม” ในส่วนของน้องโจคือการยับยั้งชั่งใจไม่ให้เล่นเกมมากเกินไป รู้จักการบริหารจัดการเวลา ทั้งการเรียน การเล่น การทำกิจกรรม ส่วนอีกสองสาวได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนอื่นโดยไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง
“คุณธรรมที่เกิดมากมีหลายตัว เช่น เรื่องความรับผิดชอบ ทั้งต่อการเรียน วันเสาร์และวันอาทิตย์ต้องทำการบ้านและช่วยงานบ้านก่อนแล้วค่อยมาฝึกซ้อม อีกอย่างคือการอยู่กับเพื่อน เราต้องรับฟังเพื่อน และฝึกเรื่องความอดทน รุ่นน้องเล็กๆ เราพูดอะไรเขาไม่ฟัง เราต้องนับ 1-10 ในใจก่อน อย่าเพิ่งไประบายอารมณ์กับน้อง หรือในการแข่งขัน ถ้าเราทะเลาะกัน ก็ต้องไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง แต่เราต้องเอางานเป็นหลัก ต้องเอาทีมมาก่อน ที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ เพราะการแข่งขันเครื่องบินเล็กจะมีเทคนิคการโกงนิดๆ หน่อยๆ ได้ แต่เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราซื่อสัตย์ ทำตามกฎกติกา อย่าแอบโกงให้เครื่องบินของเราบินได้ดีกว่าคนอื่น ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราโกง คนที่โดนโกงคงรู้สึกแย่ ถ้าเป็นเราโดนเอง ก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน” ทั้งสามเล่า
อีกตัวอย่างมาจากโรงเรียนคาทอลิกในเขตภาคตะวันออก โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี “น้องกระแต” อนุรักษ์ แก้ววรรณรัตน์ ชั้น ม.4 เล่าว่า ได้คุณครูเป็นผู้ทำเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ทั้งยังคอยให้คำแนะนำปรึกษา ทำให้กระแตรู้จักคิดมากขึ้น ยิ่งได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียงกับมูลนิธิสยามกัมมาจลก็ทำให้ได้แนวคิดชัดขึ้น ส่งผลให้เปลี่ยนตัวเองหลายอย่าง ที่เห็นชัดคือความใส่ใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือการดูแลซิสเตอร์สูงอายุ หรือ “ซิสเตอร์ยาย” ทั้งช่วยอาบน้ำ แต่งตัว พาเข้าวัดเช้า และการดูแลความสะอาดในอาราม
“ตอนนี้หนูรู้จักบริหารเวลาได้ดีขึ้น เช่นอะไรที่เตรียมได้ก่อน หนูก็จะทำไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืนเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในตอนเช้า จากเมื่อก่อนมาทำตอนเช้าทั้งหมด แล้วก็ทำอะไรขาดๆ เกินๆ จนถูกซิสเตอร์ยายโกรธบ่อยๆ ตอนนี้พาซิสเตอร์ยายทำวัดเช้าทันเวลา ซิสเตอร์ยายยิ้มให้ หนูก็ชื่นใจค่ะ” น้องกระแต ซึ่งตอนนี้กำลังฝึกฝนตัวเองเป็นแกนนำเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเล่า
เช่นเดียวกันกับ “น้องเพื่อน” ธัญญพัทธ์ อัครพันธุ์ทวี รุ่นพี่ชั้น ม. 5 ยอมรับว่าได้คุณครูทำให้เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักคิดที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ใช่การปลูกผักทำไร่ไถนา หรือการประหยัดอดออม อย่างที่เคยเข้าใจ
“ตอนนั้นหนูก็เลยได้คิดว่ามันจริงนะ จากที่เคยพยายามคิดเอง แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก พอครูชี้แนะเลยทำให้หนูเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือทุกเรื่องที่อยู่รอบตัวเรานะ ตื่นมาปุ๊บ พับผ้าห่มก็ถือว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร ทุกอย่างมันก็มีเหตุผลของมัน เมื่อเข้าใจแล้วก็เอาไปใช้กับทุกเรื่องเลย ทั้งเรื่องความรัก เรื่องการเรียน อย่างเรื่องความรัก พ่อแม่ก็ทราบว่าเราคบกันอยู่ เรื่องเวลาต้องแบ่งให้ถูกเพราะว่าเราจะไปรักเขาอย่างเดียวแล้วไม่เรียนอย่างนี้ก็ไม่ได้ อนาคตก็จะเสียหายไปทั้งคู่ พ่อแม่เราก็จะต่อว่าเขาได้ จะคุยโทรศัพท์ก็ต้องทำการบ้านเสร็จก่อน และก็ต้องตั้งเวลาไว้เท่านั้นถึงเท่านี้นะ ให้เหตุผลเขาว่าเพราะเธอต้องพักผ่อนแล้วตื่นเช้านั่งรถประจำไปโรงเรียน” น้องเพื่อนเล่า
สุดท้ายที่เรื่องเล่า “พอ = ความสุข” จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 55 จ.ตาก โรงเรียนประจำวัตถุประสงค์พิเศษ ซึ่งมีเยาวชนชนเผ่า 7 ชาติพันธุ์มาอาศัยอยู่ร่วมกัน “น้องพลอย” ชลิตา พูลเลิศ ชั้น ม.5 เล่าว่าก่อนรู้จักเศรษฐกิจพอเพียง ตัวเองเหมือนเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต ติดอยู่ในกรอบ และไม่รู้จักโลกภายนอก แต่เมื่อได้รู้จักแล้วก็กล้าที่จะออกนอกกรอบ ทำให้รู้จักโลกภายนอกมากขึ้น มีหลักปรัชญาฯ เป็นหลักนำทางความคิด ทำให้มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
“ยกตัวอย่างปิดภาคเรียน หนูจะทำงานที่ร้านกาแฟ พอได้เงินมา หนูก็จะแบ่งให้ที่บ้าน และแบ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เงินตรงนี้หนูก็จะวางแผนเลยว่าในหนึ่งเทอม เราต้องใช้อะไรบ้าง เพราะระหว่างเทอมหากของใช้หมดจะออกมาซื้อเองไม่ได้ ต้องฝากคุณครูซื้อ ก็จะมีถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เลยต้องวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นเทอม อย่างแป้งทาตัวหนูก็ซื้อมาเป็นขวดใหญ่ๆ คิดไว้ก่อนล่วงหน้า หากเหลือก็เก็บไว้ใช้เทอมถัดไป เงินที่เหลือก็จะเก็บเข้าธนาคารโรงเรียนเพื่อใช้ในเวลาจำเป็น หรือแม้แต่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในหอนอนกับเพื่อนๆ 7 ชนเผ่า หนูก็ต้องเรียนรู้และปรับตัว เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของเขา พี่ที่โตแล้วก็ต้องช่วยกันดูแลน้องเล็ก อาชีพประจำหอนอนเราก็ใช้เหตุผลกำกับ เลือกเอาอาชีพที่เรามีความรู้ มีความถนัด เหมาะสมกับกำลังคนและพื้นที่ปลูกที่เรามีมากกว่าหออื่น สุดท้ายพวกหนูจึงเลือกทำแปลงเกษตรส่งผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวันให้ทุกคนได้รับประทาน หากมีมากก็ส่งขายภายนอกเป็นรายได้เสริม” น้องพลอยยกตัวอย่าง “พอ” ของเธอปิดท้าย
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของ “พอ = สุข” ของวัยรุ่นไทยยุคใหม่ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด – หลักการใช้ชีวิต” ส่งผลเป็นชีวิตที่สมดุลและมีความสุข ... เกิดคำถามตัวโตว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยส่วนใหญ่จะได้นำหลักคิด “พอ” มาสร้างสมการความสุขอย่างที่ “ใช่” ให้กับชีวิตตัวเอง เชื่อว่าตัวอย่างที่ยกมานี้คงจะพอเป็นแนวทางให้ผู้สนใจนำไปปรับใช้กับตัวเองต่อไป
สำหรับวัยรุ่นไทยกลุ่มนี้เป็นเยาวชนจากสถานศึกษาพอเพียงในความพยายามขับเคลื่อนและเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยรุ่นใหม่ โดยการทำงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)