กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) และถ่ายทอดไปยังศาลากลางจังหวัด 69 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสมปอง อินทร์ทอง) และผู้แทนกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงซักซ้อมความเข้าใจ และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางพารา ด้วยกลไกคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดที่มีการปลูกยาง 69 จังหวัด รวมทั้งติดตามสถานการณ์ปัญหายางพารา การดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารา พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
นายอำนวย กล่าวให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เร่งรัดดำเนินการ 1) ให้ศึกษาวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ปัญหายางพาราในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาและสามารถแก้ไขในระดับจังหวัดได้ ให้เร่งดำเนินการโดยด่วน ส่วนปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งเรื่องให้ส่วนกลางพิจารณาแก้ไขในระดับนโยบายตามขั้นตอนต่อไป2) ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการผลิตและจำหน่ายยางพาราปี 2558/59 เพื่อนำมารวมเป็นแผนรวมของประเทศ ใช้ในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานได้ถูกต้องเหมาะสม 3) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับทราบข้อมูลและสามารถเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐอย่างทั่วถึง 4) สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ..... เพื่อมีองค์กรกลาง คือ การยางแห่งประเทศไทย รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร มีเอกภาพ เป็นอิสระ คล่องตัว และใช้ยางพาราและผลิตผลจากยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ 5) ร่วมมือกันปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ทั้งสภาวะปกติ และเร่งชี้แจงทำความเข้าใจหากมีการเคลื่อนไหวชุมนุมในพื้นที่
ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท (รายละไม่เกิน 15,000 บาท) ขณะนี้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 3 แสนกว่าครัวเรือน เป็นเงินประมาณ 3,400 ล้านบาท ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนนี้ ส่วนโครงการควบคุมปริมาณการผลิต โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนนั้น สกย.ดำเนินการได้พื้นที่ 9 หมื่นไร่ จากเป้าหมาย 1 แสนไร่ สำหรับดครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารานั้น นอกจาก กรมวิชาการเกษตรได้ติดตามสถานการณ์ราคายางพาราอย่างใกล้ชิด ยังได้มีการปรับปรุงพัฒนาเรื่องตลาดยางพารา โดยกำลังดำเนินการเรื่องตลาดแลกเปลี่ยนยางธรรมชาติในประเทศ เพื่อให้ตลาดกลางยางพาที่มีอยู่ทั้งในส่วนของกรมวิชาการเกษตร สกย. และอบต. มีมาตรฐานและเครือข่ายเดียว เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดดังกล่าวได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนเรื่องตลาดต่างประเทศด้วย
อนึ่ง มาตรการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาล 16 มาตรการ ประกอบด้วย 1) โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 2) โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท (รายละไม่เกิน 15,000 บาท) 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม (รายละไม่เกิน 100,000 บาท) 4) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 5) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตร เพื่อรวบรวมยาง 10,000 ล้านบาท 6) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท 7) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 15,000 ล้านบาท 8) โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 9) โครงการจัดหาตลาดเพื่อส่งออกยางพารา 10) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ 11) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 12) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 12) โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 14) โครงการลดต้นทุนการผลิต 15) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต และ 16) โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ระยะสั้น (สนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท) 6,159 ล้านบาท (โครงการต่อเนื่อง)