กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งพัฒนาวิสาหกิจชุมชนส่งท้ายปี หวังเทียบชั้นญี่ปุ่น รุกจับมือเมืองมินะมิโบโซ อันดับ 1 เมืองแห่งวิสาหกิจชุมชนของประเทศ ร่วมผลักดันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการญี่ปุ่น เกิดความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางด้านธุรกิจ และสามารถดำเนินกิจการร่วมกันได้ โดยการร่วมมือกันผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับเมืองมินะมิโบโซ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิสาหกิจชุมชนระหว่างกัน 2.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับเมืองมินะมิโบโซร่วมมือเพื่อการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการขยายธุรกิจในระดับสากล 3. แลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกัน ทั้งนี้ กรมฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นจากญี่ปุ่นแล้วกว่า 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1. จังหวัดชิมาเน่ 2. จังหวัดไอจิ 3. จังหวัดไซมาตะ 4. จังหวัดยามานะชิ 5. จังหวัดอะคิตะ 6. จังหวัดโทโทริ 7. เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานะงะวะ 8.จังหวัดฟุกุอิ 9. จังหวัดโทยาม่า และ10. เมืองมินะมิโบโซ จังหวัดชิบะ สำหรับเมืองมินะมิโบโซเป็นที่รู้จักในด้านของการมีศูนย์บริการริมทาง (Roadside Station) ชื่อว่า “บิวาคลับ” โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ลูกบิวาซึ่งเป็นผลไม้ที่มีเฉพาะในเมืองนี้มาแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กว่า 100 ชนิด เช่น อาหารแปรรูป โดยการอบแห้ง การแปรรูปเป็นขนมหวานเจลลี่บิวา คุกกี้ สบู่ เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองมินามิโบโซเป็นอย่างมาก สำหรับศูนย์บริการริมทางของญี่ปุ่นมีลักษณะเช่นเดียวกับ ศูนย์จำหน่าย “ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP” (One Tumbon One Product) ของไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศกว่า 1.28 ล้านราย (ข้อมูล : กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร) โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอหรือเสื้อผ้า และข้าว เป็นต้น หวังเป็นอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์โอทอปไทยจะสามารถพัฒนาเทียบชั้นวิสาหกิจชุมชนจากญี่ปุ่นได้
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนถือว่าเป็นกลุ่มกิจการที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจของประเทศในระดับท้องถิ่นมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศกว่า 1.28 ล้านราย (ข้อมูล : กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร) โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอหรือเสื้อผ้า และข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาและยกระดับวิสาหกิจชุมชนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานจากต่างประเทศ เพื่อการศึกษาตลาด ทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการขยายฐานการจัดจำหน่ายจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งอีกด้วย
ดร. อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับเมืองมินะมิโบโซ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 10 ของปีนี้ในการสร้างความร่วมมือ ซึ่งเมืองมินะมิโบโซ มีความโดดเด่นในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของประเทศญี่ปุ่น โดยไทยสามารถนำวิธีการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของเมืองดังกล่าวมาปรับใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในประเทศได้ โดยการร่วมมือกันครั้งนี้ผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ เมืองมินะมิโบโซ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชน จากเมืองมินะมิโบโซ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย 2. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับเมืองมินะมิโบโซจะมีการร่วมมือเพื่อการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในมินะมิโบโซและประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกัน เช่น การจัดการโครงการแลกเปลี่ยนด้านวิสาหกิจชุมชน การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชน การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการประชุมทางธุรกิจ
ดร. อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมืองมินะมิโบโซ ตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะ ที่มีสนามบินนาริตะตั้งอยู่ เมืองมินะมิโบโซ มีความโดดเด่น และเป็นที่รู้จักในด้านของการมีศูนย์บริการริมทาง (Roadside Station) ชื่อว่า “บิวาคลับ” ซึ่งได้รับรางวัล “กรังด์ปรีซ์” เมื่อปี 2543 ว่าเป็นศูนย์บริการริมทางดีเด่นมากที่สุดในญี่ปุ่น สำหรับศูนย์บริการริมทางนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ลูกบิวาซึ่งเป็นผลไม้ที่มีเฉพาะในเมืองนี้มาแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กว่า 100 ชนิด เช่น อาหารแปรรูป โดยการอบแห้ง การแปรรูปเป็นขนมหวานเจลลี่บิวา คุกกี้ สบู่ เป็นต้น โดยประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมในการจำหน่ายสินค้าที่บิวาคลับด้วย โดยในเมืองมินะมิโบโซมีศูนย์บริการริมทางดังกล่าวทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวเดินทางมาสู่เมืองนี้ได้ถึง 5 ล้านคนต่อปี ทำให้สินค้าโดยเฉพาะจากลูกบิวาของเมืองมินามิโบโซ เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองมินามิโบโซเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของประเทศไทย ทั้งนี้ ศูนย์บริการริมทางของญี่ปุ่นมีลักษณะเช่นเดียวกับการพัฒนาสินค้าของวิสาหกิจชุมชนของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP” (One Tumbon One Product) ซึ่งนำต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้รับเกียรติจากอดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการ “บิวาคลับ” เดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งเพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์พัฒนาชุมชนให้กับโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นจากญี่ปุ่นแล้วกว่า 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1. จังหวัดชิมาเน่ 2. จังหวัดไอจิ 3. จังหวัดไซมาตะ 4. จังหวัดยามานะชิ 5. จังหวัดอะคิตะ 6. จังหวัดโทโทริ 7. เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานะงะวะ 8.จังหวัดฟุกุอิ 9. จังหวัดโทยาม่า โดยมีวัตถุประสงค์การลงนามในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การลงนามเพื่อความร่วมมือในการป้องกันปัญหาภัยภิบัติทางธรรมชาติ ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องแบบโอตาไก (Otagai Business Concept : Otagai BC) การลงนามเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา การลงนามเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบอากาศยาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (TIRI) ประจำกรุงเทพฯ เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการผลิตแก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสามารถได้รับความรู้เช่นกัน ดร. อรรชกา กล่าว
สำหรับการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ลงนามฯกับเมืองมินะมิโบโซ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่ 10 โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายยูทากะ อิชิอิ ท่านนายกเทศมนตรีเมืองมินะมิโบโซ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนาม ทั้งนี้ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทร. 0 2202 4426-7