กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวเปิดตัวการจัดงานแสดงสินค้าปลาสวยงามระดับนานาชาติ Thailand International Ornamental Fish Expo 2015 (TIOFE 2015) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามในอันดับต้น ๆ ของโลก เพื่อให้สินค้าและบริการต่าง ๆ มีการพัฒนาตอบสนองความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น มีช่องทางในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการหลากหลายมากขึ้น จึงต้องมีการส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร ผู้ค้า และผู้ส่งออก เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จไปยังกลุ่มเป้าหมาย การเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ผลิตที่มีมากกว่า 1,500 ราย ผู้ส่งออกปลาสวยงามมีมากกว่า 100 ราย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้านการค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงในโลกสังคมออนไลน์ ประกอบด้วยสมาคม/สหกรณ์/ชมรมต่าง ๆ ประมาณ 50 หน่วย ได้มีส่วนพัฒนาขยายโอกาสไปยังตลาดต่างประเทศที่มีผู้ค้าจากทั่วโลก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ปลาสวยงาม 2556 – 2559 เพื่อให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าปลาสวยงามที่มีคุณภาพของโลกภายในปี พ.ศ. 2559” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการผลิตของชนิดปลาสวยงาม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ปลาสวยงามด้วยการพัฒนาคุณภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ปลาสวยงามชนิดและสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งการพัฒนาระบบการผลิตที่ดีและมีมาตรฐาน โดยวางเป้าหมายให้ผลผลิตของปลาสวยงามทุกชนิดต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี ผลผลิตของปลาสวยงามพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ใหม่ ได้รับการพัฒนาเป็นสินค้าชนิดใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 2 ชนิด เกษตรกรมีรายได้อย่างน้อย 120,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จำนวนเกษตรกรรายใหม่ที่มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น 200 ราย/ปี เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นฐานในการผลิตและการค้าร่วมกันในรูปแบบชมรมธรรมชาติหรือวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ ได้เพิ่มขึ้น 50 กลุ่ม มูลค่าการส่งออกปลาสวยงามเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี จำนวนฟาร์มที่ได้รับมาตรฐานการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้น 20 ราย/ปี และจำนวนตลาดปลาสวยงามภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1 แห่ง/ปี โดยปัจจุบันชนิดปลาสวยงามส่งออกที่มูลค่าสูง ได้แก่ ปลากัด ปลาทอง ปลาคาร์ฟ ปลาหางนกยูง และปลาหมอสี เป็นต้น
นายชวลิต กล่าวอีกว่า การจัดงาน Thailand International Ornamental Fish Expo 2015 ในครั้งนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การจัดประกวดปลากัดสวยงามที่มีจำนวนผู้เข้าส่งประกวดมากที่สุดในโลก การจัดแสดงชนิดปลาสวยงามส่งออกของไทยมากกว่า 200 ชนิด เช่น ปลาทอง หางนกยูง กระเบน ปอมปาดัวร์ หมอสี เป็นต้น การจัดนิทรรศการด้านการผลิตปลากัดจากฟาร์ม และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ การเจรจาธุรกิจการค้า รวมทั้งการจำหน่ายปลาสวยงามชนิดต่าง ๆ ในราคาถูกจากฟาร์มของเกษตรกร เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงามกว่า 2,000 คน และมีเงินสะพัดกว่าหลายร้อยล้านบาท