กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เห็นชอบในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมหารือการบูรณาการร่วมกัน โดยมีผู้บริหารของทั้งสองกระทรวงเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือการจัดทำแผนบูรณาการการทำงานร่วมกันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเสนอประเด็นการบูรณาการ รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนทั้งหมด 12 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนเมษายน 2558 โดยมีการแสดงโขน การแสดงทางวัฒนธรรม การประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เป็นต้น 2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเน้นในลักษณะแบบไทยๆ และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง 3.การจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2558 แบบดั้งเดิม เช่น จัดในวัดหรืออุทยานประวัติศาสตร์ และจัดร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดน 4. การจัดงานลอยกระทง ประจำปี 2558 โดยสนับสนุนให้ทุกจังหวัดจัดงานลอยกระทงแบบดั้งเดิม 5. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยววิถีไทยของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงมีองค์ความรู้เพื่อการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนจัดเทศกาล ประเพณีสำคัญแบบวิถีไทย ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับชาติ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า 6. การพัฒนาพื้นที่มรดกโลก โดยจัดแสดงแสงสีเสียงตอนกลางคืน และจัดทำระบบรหัสคิวอาร์ (QR Code) ไม่น้อยกว่า 5 ภาษา อีกทั้งจัดกิจกรรมรองรับในพื้นที่ เช่น เส้นทางจักรยานท่องเที่ยว ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 7. การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ โดยบรรจุการจัดงานดังกล่าวในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทย 8. การสร้างภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำแผนไว้ชัดเจนแล้วทั้งการผลิตภาพยนตร์สารคดี การจัดประกวดภาพยนตร์สั้น การผลิตภาพยนตร์เรื่องยาว รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 9. การส่งเสริมหมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัดคัดเลือกหมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งต่อยอดมาจากหมู่บ้านรักษาศีล 5 10. การส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงเวลากลางคืน (Night Tour) โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และขยายเวลาการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มสัปดาห์ละ 1 วัน และ11. การเพิ่มคุณภาพของมัคคุเทศก์ โดยจัดฝึกอบรมด้านภาษาต่างๆ รวมทั้งจรรยาบรรณในวิชาชีพ และสนับสนุนการบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์และแหล่งมรดกโลก ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 กระทรวงจะได้จัดกิจกรรมร่วมกันในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงได้สัมผัสกับวัฒนธรรมไทยที่มีมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย