กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--
ตามที่คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพื่อเปิดทางให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น
วันนี้ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวเตือนสติ สนช.และคสช.!!!ในประเด็นดังกล่าวว่าจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น
“เตือนสติ สนช.และคสช.!!!การที่คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สนช.ออกมาบอกว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น ขอเตือนว่า นั่นคือการทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพยิ่งมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนคนเล็กคนน้อย คนยากจนเข้าไม่ถึงการรักษาเพราะไม่มีเงินร่วมจ่าย ภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลจะกลับมาอีก ถอยหลังกลับไปจุดเดิมเมื่อ 12 ปี ที่ผ่านมา จริงๆปัจจุบันประชาชนร่วมจ่ายผ่านภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆอยู่แล้ว เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าคนดูแล เป็นต้น หากจะให้มีการร่วมจ่ายกลุ่มแรกที่ต้องร่วมจ่ายกลุ่มแรกคือข้าราชการ เพราะมีรายได้มากกว่า ใช้งบต่อหัวมากกว่าบัตรทองถึงเกือบ 4 เท่า”
ทั้งนี้ จากรายงานผลการประเมินสมรรถนะระบบบริการสุขภาพเพื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและความเป็นธรรมด้านสุขภาพจำแนกตามสิทธิ พบว่า ค่าเฉลี่ยของการรับบริการผู้ป่วยนอกต่อคน และผู้ป่วยในต่อคน ของผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมขอรับบริการต่ำกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างมาก
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการไปโรงพยาบาลของผู้ป่วย ในระบบหลักประกันสุขภาพของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรเครือข่ายในกรุงเทพมหานครกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ใช้สิทธิ จากทั้ง 48 เขตของกรุงเทพมหานครยัง พบว่าในการไปรับบริการสุขภาพในแต่ละครั้งนั้นผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยพบว่าค่าขาดรายได้ เนื่องจากการต้องเข้ารับการรักษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษานั้นเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่เกิดขึ้น โดยในการใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น มีค่าขาดรายได้ เนื่องจากการขาดงานและค่าเดินทางเป็น 181 บาท และ 113 บาท ต่อครั้งของการเข้ารับบริการ ตามลำดับ ส่วนการใช้บริการแบบผู้ป่วยใน มีค่าขาดรายได้เนื่องจากการขาดงานและค่าเดินทางเป็น 461 บาท และ 157บาท ต่อครั้งของการเข้ารับบริการ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างมีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 210 บาท เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนจำนวนมากตัดสินใจไม่ไปรับบริการ ดังนั้น หากต้องร่วมจ่ายจะยิ่งกีดกันคนที่ไม่มีกำลังมากพอในการเข้าถึงระบบสุขภาพ
ทางด้าน รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ กรรมาการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าประเทศไทยได้ผ่านระยะที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพไปแล้วและเป็นไปด้วยดี ควรเริ่มสู่ระยะการปฏิรูปเพื่อเพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และ ความเท่าเทียม ต้องมองภาพรวมทั้งประเทศ. แนวคิดที่จะให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกัน หรือ แยกเงินเดือนออกจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ จะเป็นการสวนทางย้อนศร สับสนในหลักการหลักคิด อาจทำให้โกลาหล ยุ่งเหยิงและ การปฏิรูปเพื่อการพัฒนาจะหยุดชะงักในที่สุด