กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในฐานะประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จัดทำโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยใช้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และธรรมชาติวิทยา รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์และสร้างเสริมทรัพยากรท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ส่งมอบศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติและด้านวัฒนธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ภายในศูนย์ฯมีพื้นที่ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน 5 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 อันดามัน…ที่สุดแห่งใจ จัดแสดงเรื่องราวของ “อันดามัน” ด้านลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ของจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล
อาคาร 2 เส้นทางสายไหมทางทะเล จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตามลำดับพัฒนาการของพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคประวัติศาสตร์
อาคาร 3 ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม จัดแสดงเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับคนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวอันดามัน อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
อาคาร 4 เขา ป่า นา เล และโลกสีคราม จัดแสดงความสวยงามทางธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบการให้ความรู้ทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และธรณีวิทยา
อาคาร 5 สวรรค์อันดามัน แสดงบทสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับอันดามันทั้งหมดด้วยความสวยงาม ทั้งทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และธรรมชาติ อันเป็นที่มาของคำว่า “สวรรค์อันดามัน”
ที่สำคัญยังได้จัดแสดงข้อมูลพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีต่อดินแดนอันดามัน รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เคยเสด็จฯ เยือนดินแดนอันดามันในวาระต่างๆ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่ทุกพระองค์