กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม จัดเวทีเสวนาเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม มุมมองเด็กและเยาวชน ต่อศิลปะ และวัฒนธรรมไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๕๘ โดยเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้แทนเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและมุมมองของตนเองเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ โดยเด็กและเยาวชนได้ส่งเสียงสะท้อนความคิดเห็นของตนเองในมุมมองต่างๆ โดยมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีศิลปะ และวัฒนธรรม เป็นของตนเอง รวมทั้งมีขอเสนอในสาระสำคัญ ได้แก่
ข้อเสนอจากเด็กและเยาวชนที่มีต่อผู้ใหญ่
1. อยากให้ผู้ใหญ่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข
2. อยากให้ผู้ใหญ่รักกัน
3. อยากให้ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน
4. อยากให้ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่อยากให้เด็กกลายเป็นเสียงที่หายไป
สำหรับของเสนอของเด็กและเยาวชนในด้านวัฒนธรรม ได้แก่
1.อยากให้ผู้ใหญ่ปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นหลังต่อๆไปและสร้างความรู้ ความเข้าใจโดยอบรมเด็กๆ ให้ยืนหยัดอยู่ในวัฒนธรรมอันดีงาม
2. อยากให้ผู้ใหญ่เปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้และพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน
ในส่วนของภาพในอนาคตของประเทศไทยในมุมมองของเด็กและเยาวชน ได้แก่
๑. อยากเห็นบ้านเมืองอยู่อย่างสงบสุข และมีความรัก ความสามัคคี แบ่งปันซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะมีความแตกต่างบ้างแต่ไม่แตกแยก
๒. อยากเห็นสังคมอยู่ร่วมกันอย่างรู้ และเคารพ กติกา หน้าที่ และกฎระเบียบของสังคม
๓. อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าได้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งภายนอกประเทศมากเกินไป ผลิตเองใช้เอง
ด้านนายเอกลักษณ์ วิเศษศรี ประธานเยาวชนอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม รุ่น14 จากจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชนมีอยู่ 2 ข้อ คือ การเลือกรับสื่อ ซึ่งเด็กเยาวชนปัจจุบัน ขาดวิจารณญาณในการเลือกรับชมสื่อแต่ละประเภท ไม่สามารถแยกแยะตีความได้ว่าสื่อใดเป็นสื่อร้าย สื่อใดเป็นสื่อดี สื่อแต่ละสื่อต้องการบอกอะไรกับเราบ้าง และปัญหาการเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่เคยถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตเริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย เช่น ภาษา การแต่งกาย มีกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ คือการตั้งกลุ่มเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น โขน ละคร หุ่นกระบอก หรือจัดบอร์ดส่งเสริมความรู้และรักษาวัฒนธรรมไทยในโรงเรียน เช่น มารยาทไทย การไหว้ในโอกาสต่างๆ
นายณัฐกฤษณ์ เนตรทิพย์ ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจากจังหวัดน่าน นำเสนอว่า เด็กๆ ในจังหวัดน่านมีการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนในรูปแบบจิตอาสา อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น จัดรณรงค์ทางวัฒนธรรมเพื่อสานต่อวัฒนธรรมที่ดีงาม อาจเป็นการรวมตัวกันในโรงเรียน ขยายไปสู่ชุมชน หมู่บ้าน และเบื้องนอก มีกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย คือ การฟ้อนไหม ฟ้อนเจิง เป็นต้น
ทางด้านนายปริญญา โต๊ะวัง ผู้แทนเยาวชนอิสลาม จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดตั้ง “ชมรมคนคุณธรรม” เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย และป้องกันปัญหาต่างๆ ของสังคม
ส่วนนายวรัญญู วอทอง ประธานชมรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ได้จัดตั้ง “ค่ายวิถีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” หรือ “ค่ายมดแดง” เพื่อสืบสานและเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย
และเด็กหญิงชินารดี อนุพงษ์ภิชาติ หรือน้องใยไหม ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนของนักแสดงเด็กสามารถประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมไทยได้ด้วยการไหว้ เพราะการไหว้ ถือเป็นการสืบสาน วัฒนธรรมได้อย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังอยากให้ประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ หรือแหล่งเรียนรู้ เช่น ท้องฟ้าจำลอง กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเพื่อเด็กและเยาวชนสามารถชมได้โดยไม่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ
ในตอนท้ายตัวแทนเยาวชนต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชน รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรมไทยที่ดีงามในสังคมด้วย
ทั้งนี้ ข้อเสนอเด็กและเยาวชนจากการเวทีเสวนาที่จัดขึ้นนี้ จะนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงงานในสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรมของชาติที่ดีงามอย่างยั่งยืนต่อไป