กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... (ร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) โดยคปก.เสนอให้ร่างพรบ.ทรัพยากรน้ำควรเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ รวมถึงกำหนดสิทธิ อำนาจและหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้งส่วนอปท. ชุมชน เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งกฎหมายจะต้องรับรองสิทธิในทรัพยากรน้ำให้น้ำเป็นทรัพยากรส่วนรวม รับประกันสิทธิในน้ำขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิชุมชนในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีหน้าที่บริหารจัดการร่วมกัน และต้องกำหนดขอบเขตสิทธิในการใช้น้ำให้บุคคล ชุมชน หรือหน่วยงานของรัฐมีสิทธิใช้น้ำเท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครอง โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายเกินสมควรแก่บุคคลอื่นหรือสาธารณะ นอกจากนี้จะต้องกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและให้เหตุผลหากมีการออกข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำอันอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนก่อนการดำเนินการ
ส่วนทางด้านโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการน้ำ คปก. เสนอแนะให้กำหนดโครงสร้างออกเป็น 4 ระดับ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำตามแต่ละระดับมีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาและองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ และให้มีผลผูกพันให้หน่วยงานรัฐและอปท.ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ คปก.เห็นควรให้มีการจัดตั้ง “กองทุนทรัพยากรน้ำ” โดยมีที่มาของแหล่งเงินจากรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าใช้น้ำที่จัดเก็บได้ เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 ระดับ รวมถึงเพื่อการศึกษา วิจัยและการวางแผนเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ คปก.เน้นย้ำให้มีการกำหนดแผนการบริหารทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติ เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และคปก.ยังได้เสนอแนะให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องกำหนดความรับผิดทางแพ่งต่อบุคคลที่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำหรือใช้ทรัพยากรน้ำโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย รวมถึงโทษปรับทางปกครองและโทษทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ