กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
“รู้ทันภาวะไขมันพอกตับ”
โดย พญ. อุษณีย์ รัตนทรงชัย
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลปิยะเวท
ข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่าภาวะไขมันพอกตับกลายเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอิตาลีพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 5 มีปัญหาภาวะไขมันพอกตับและพบมากกว่าร้อยละ 90 ในผู้ป่วย โรคอ้วนระดับรุนแรง ในขณะที่ประชาการชาวเอเชียแม้จะมีโรคอ้วนน้อยกว่าประเทศในแถบตะวันตกแต่ก็พบร้อยละ 15 ของประชากรทั่วไป นอกจากนี้ยังพบภาวะไขมันพอกตับได้กลายเป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้นในเด็กและวัยรุ่นร้อยละ 3-9.6 ทีเดียว ไขมันพอกตับเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในปัจจุบันบ่อยครั้งเมื่อคุณไปตรวจเลือดพบว่าการทำงานของตับผิดปกติมีค่า SGOT , SGPT สูง ค่าทั้งสองเป็นเอ็นไซม์ที่หลั่งออกมาจากตับแสดงว่าตับได้รับอันตรายหรือมีการอักเสบ การวินิจฉัยไขมันสะสมในตับทำได้ โดยการตรวจเลือดดูปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ตรวจหาสาเหตุอื่นที่ทำให้ตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนดูตับก็สามารถบ่งบอกได้ดีพอสมควร ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงของโรคต่อไป
พญ. อุษณีย์ รัตนทรงชัย อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ภาวะไขมันพอกตับ คือ ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์อยู่ในเซลล์ตับ เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรกแต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่ไขมันจะทำให้เกิดการอักเสบของตับเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Non-Alcoholic Steato Hepatitis (NASH) ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง (Cirrhosis)
สาเหตุของการเกิดไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรานั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบันคิดว่ามีหลายสาเหตุซึ่งความรู้จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ ซึ่งกลุ่มอาการที่ สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ อ้วนส่วนใหญ่มักจะอ้วนบริเวณลำตัวมากกว่าแขนขา เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ส่วนปัจจัยอื่นที่นอกเหนือไปจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น สารพิษ ยากลุ่มที่เป็นฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการหรือแสดงอาการออกอย่างไม่ชัดเจนตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดเช็คสุขภาพ โดยการเจาะเลือดพบว่ามีตับอักเสบ (ค่า AST, ALTสูงกว่าปกติ) ประมาณ 1.5 เท่าถึง 4 เท่า ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวาอ่อนเพลียง่าย เมื่อโรคตับเป็นมากแล้วตรวจร่างกายผู้ป่วยมักจะพบว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติยกเว้นพบว่าผู้ป่วยอาจจะมีภาวะอ้วนลงพุงและในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้วก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรังหรือตับแข็งร่วมด้วย การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนจะทำให้ทราบถึงปริมาณไขมันที่พอกตับ
วิธีการรักษาส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักตัวประมาณร้อยละ 7-10 จากน้ำหนักเดิม ข้อควรระวังในการลดน้ำหนักคือไม่ควรลดลงเร็วเกินไปเกินกว่า 2 กิโลกรัมต่อเดือนไม่ควรลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร การลดน้ำหนักลงเร็วเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดตับอักเสบรุนแรง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และควบคุมอาหารจำกัดการกินอาหารโดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและไขมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณที่สูง งดน้ำอัดลม รักษาควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในผู้ป่วยเบาหวานและไขมันในเลือดสูงและที่สำคัญควร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเหล่านี้จะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดว่าได้ผลดีจริงเท่าที่มีการทดลองและพอจะได้ผลดี ได้แก่ ยาที่เพิ่มความไวต่ออินซูลิน (Insulin sensitizing agent) เช่น Pioglitazone metformin ยาต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี Ursodeoxycholicacid(UDCA) Silymarin อย่างไรก็ตามยังคงต้องการข้อมูลจากงานวิจัยต่อไป ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งเน้น ที่การปฏิบัติตัว พญ. อุษณีย์ รัตนทรงชัย กล่าวทิ้งท้าย