กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
คณาจารย์และนักวิจัยธรรมศาสตร์กวาด 13 รางวัล จากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557–2558 ประกอบด้วย “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” มากถึง 3 สาขา ได้แก่ ปรัชญา นิติศาสตร์ และเทคโนโลยีสารนิเทศฯ พร้อมด้วยรางวัลดีเด่นด้านผลงานวิจัย ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกอีกหลายรายการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลงานด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2557-2558 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น และเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รางวัลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 3 รางวัล รางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่น และระดับดี 3 รางวัล รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น และประกาศเกียรติคุณ 3 รางวัล และรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเด่นและดี 5 รางวัล รวมทั้งสิ้น 14 รางวัล
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์ และทีมวิจัยทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักวิจัยไทย และขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ทุ่มเทในการสร้างสรรค์ผลงานและสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้การสนับสนุนการวิจัยอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานสากล สร้างองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาของสังคม
สำหรับผลงานจากคณาจารย์และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2557-2558 ได้แก่
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2557
1. สาขาปรัชญา: ศาสตราจารย์ สายันต์ ไพรชาญจิตร์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
2. สาขานิติศาสตร์: ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์
3. สาขาเทคโนโลยีสารนิเทศและนิเทศศาสตร์: ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2557
รางวัลระดับดีเด่น
1. สาขาปรัชญา: ศ. สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากผลงานวิจัยวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสังเคราะห์ความรู้เรื่องเทคนิควิทยาการผลิต แบบแผนทางศิลปะ และความหมายทางวัฒนธรรมของเครื่องถ้วยเคลือบในแหล่งเตาบ้านเตาไหแช่เลียง จังหวัดน่าน และแหล่งเตาพะเยาที่เวียงบัว จังหวัดพะเยา”
รางวัลระดับดี
2. สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช: คณาจารย์และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร นำโดยรศ. ดร.ปกรณ์ โอภาประกาสิต จากผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์และตรวจสอบสมบัติของอะลิฟาติก-อะโรมาติก โคพอลิเอสเทอร์และพอลิเมอร์ผสม”
3. สาขาเศรษฐศาสตร์: ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี จากผลงานวิจัยเรื่อง “ภาคบริการของไทยสู่จุดผกผัน”
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558
รางวัลระดับดีเด่น
1. สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา: ผศ.ดร.สุวดี ก้องพารากุล ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข และ น.ส.อริสรารัชชะ จากผลงานเรื่อง “แผ่นยางทำความสะอาดน้ำมันแบบใช้ซ้ำ”
2. สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา: รศ. วรภัทร ลัคนาทินวงศ์ และ นายปิยะพงษ์ สอนแก้วจากผลงานเรื่อง “บรรจุภัณฑ์ฉลาด สำหรับทุเรียน”
รางวัลประกาศเกียรติคุณ
3. สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์: รศ.ดร. เจียรนัย เล็กอุทัย ผศ. ดร. เบญญา เชิดหิรัญกร และนายจักราวุธ พานิชโยทัย จากผลงาน “เครื่องมือทดสอบวงอีสเตอรีซิสของค่าโพลาไรเซชันและสนามไฟฟ้าสำหรับวัสดุเฟอร์โรอิเล็กทริก”
รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2557
รางวัลระดับดีเด่น
1. สาขานิติศาสตร์: ดร.สมบัติ พฤฒิพงศภัค วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง “การปฏิรูประบบกระบวนยุติธรรมทางแพ่งของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล” อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ
รางวัลระดับดี
1. สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์: ผศ. ดร.ธีรพจน์ เวศพันธุ์ วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง “อิทธิพลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อปรากฏการณ์ถ่ายโอนในเนื้อเยื่อ” อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
2. สาขาเศรษฐศาสตร์: ดร.อลิสรา ชรินทร์สาร วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง “การบูรณาการตัวแปรต้นของสมรรถนะทางความคิดที่ส่งผลต่อความพอใจในการประมวลทางเลือก” อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก รศ.ดร. กฤษฎารัตน์ วัฒนสุวรรณ
3. สาขาเศรษฐศาสตร์: ดร.ปณิธาน จันทองจีน วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง “ตัวแบบความพึงพอใจของลูกค้าหลังการแก้ไขปรับปรุงการบริการ : การบูรณาการทางด้านกระบวนการคิด และทางด้านความรู้สึกของผู้บริโภค” อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก รศ.ดร. กฤษฎารัตน์ วัฒนสุวรรณ
4. สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ : ดร.วุฒิพล สินธุนาวารัตน์ (ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม-เกล้าธนบุรี เรื่อง “ทฤษฎีบทจุดตรึงร่วมสำหรับการส่งหดตัวไม่เชิงเส้นนัยทั่วไปกับการประยุกต์” อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก รศ.ดร. ภูมิ คำเอม
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นในงานวันนักประดิษฐ์ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ นี้ สามารถดูรายละเอียดรางวัลทั้งหมดได้ที่ http://rrm.nrct.go.th/nrctaward/138-announcements-nrct-award1.html