รองนายกรัฐมนตรีตรวจการก่อสร้างโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 1997 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--15 ธ.ค.--สำนักงานเขตกทม.
วันที่ 8 ธ.ค. 40 เวลา 09.30 น. นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร นายบำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ รองปลัดกทม. พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) และคณะ ได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี (ช่วงแยกอรุณอมรินทร์ ถึงพุทธมณฑล สาย 2) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว รวมทั้งปัญหาอุปสรรคจากการก่อสร้างของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง (ช่วงทางแยกต่างระดับสิรินธร-พุทธมณฑล สาย 2) และเจ้าหน้าที่ของกทม. (ช่วงแยกอรุณอมรินทร์ถึงทางแยกต่างระดับสิรินธร) ณ สำนักงานควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ ของกรมทางหลวง
รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจการก่อสร้างโครงการว่า ขณะนี้มีรถวิ่งเข้า-ออกทม. ประมาณวันละ 8 หมื่นคัน หากการก่อสร้างโครงการทั้ง 2 ช่วงแล้วเสร็จ รวมประมาณกว่า 13 กม. จะสามารถช่วยระบายรถได้เพิ่มขึ้นอีก 3-4 หมื่นคัน รวมทั้งรถสามารถวิ่งบนผิวทางราบใต้โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่า สะพานพระราม 8 จะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีด้วย
สำหรับโครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ทางผู้รับเหมาได้แจ้งให้ทราบว่าภายในเดือนมีนาคม 2541 ถนนดังกล่าวจะสามารถเปิดการจราจรได้ แต่อย่างไรก็ดีตนขอให้เร่งก่อสร้างให้สามารถเปิดการจราจรได้เดือนกุมภาพันธ์ส่วนเรื่องการเงินคงจะไม่มีปัญหา เพราะตนจะได้เร่งรัดในเรื่องดังกล่าวด้วย
ทางด้านปลัดกรุงเทพ กล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างสะพานพระราม 8 นั้น ที่จริงกทม. ได้ประกวดราคารวมทั้งเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว และตามแผนเดิมก็ควรลงมือก่อสร้างสะพานพระราม 8 แล้ว แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าเงินบาท ทางบริษัทฟิลิปป์ ฮอพพ์แมน จึงขอเลิกสัญญา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเปิดช่องให้บริษัทเลิกสัญญาได้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการดี ที่ให้บริษัทฯ เลิกสัญญาก่อสร้าง เพราะหากบริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และหยุดการก่อสร้างสะพานพระราม 8 จะทำให้มีปัญหามาก สำหรับวิธีที่จะดำเนินการใหม่ คือ ให้บริษัทรายที่ 2 มาต่อรองราคา แต่จากการเจรจาปรากฏว่า บริษัทรายที่ 2 ไม่สามารถรับในราคาที่เสนอไว้เดิมได้ ดังนั้นอีกวิธีหนึ่ง คือ ให้บริษัทที่เคยยื่นเสนอประกวดราคาไว้เดิมมายื่นราคาอีกครั้งหนึ่ง โดยกทม.จะปรับปรุงเงื่อนไขรูปแบบสะพานพระราม 8 ใหม่ เช่น ตัดทางขึ้น-ลง บริเวณบางยี่ขัน มีการปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายและใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศมากขึ้น เป็นต้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ