กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ค่านิยมหลัก 12 ประการและการพบเห็นสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 622 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2557 ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาเกือบร้อยละร้อยละ คือร้อยละ 97.1 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ระบุติดตามเป็นบางสัปดาห์
ทั้งนี้เมื่อสอบถามการพบเห็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นในลักษณะต่างๆ พบว่า ก่อนที่จะมี คสช. เข้ามา สถานการณ์ที่พบเห็นมากที่สุดคือ ตำรวจจราจรรับเงินเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหา (ร้อยละ 84.5) รองลงมาคือ ตำรวจรับเงินเพื่อช่วยทำให้พ้นความผิดคดีความต่างๆ (ร้อยละ 75.0) ร้อยละ 48.6 ระบุข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตต่างๆ รับเงินใต้โต๊ะจากผู้ประกอบการ ร้อยละ 48.2 ระบุเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจรับเงินจากเอกชนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย (ส่วย) เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ร้อยละ 47.2 ระบุข้าราชการนำทรัพย์สินทางราชการไปใช้ในงานส่วนตัว และร้อยละ 44.2 ระบุตำรวจมาใช้บริการหรือกินฟรีตามสถานบันเทิง และโรงแรมที่พักต่างๆ และเมื่อสอบถามถึงการพบเห็นสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นภายหลังจากที่มี คสช. เข้ามาแล้วนั้น ผลการสำรวจพบว่า การพบเห็นตำรวจจราจรรับเงินเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหา คิดเป็นร้อยละ 56.8 (ลดลงจากเดิม ร้อยละ 27.7) รองลงมาคือ ตำรวจรับเงินเพื่อช่วยทำให้พ้นความผิดคดีความต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 47.4 (ลดลงจากเดิมร้อยละ 27.6) ข้าราชการนำทรัพย์สินทางราชการ ไปใช้ในงานส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 33.2 (ลดลงจากเดิม ร้อยละ 14.0) ข้าราชการรับเงินจากบริษัทเอกชน ที่ต้องการชนะการประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นร้อยละ 29.1 (ลดลงจากเดิม ร้อยละ 14.0) และเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจรับเงินจากเอกชนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย (ส่วย) เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 28.0 (ลดลงจากเดิม ร้อยละ 20.2) ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยในขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 18.2 ระบุสถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรง-รุนแรงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 21.3 ระบุค่อนข้างรุนแรง ร้อยละ 37.4 ระบุไม่ค่อยรุนแรง และร้อยละ 23.1 ระบุไม่มีปัญหาแล้ว
และจากประเด็นสำคัญดังกล่าวข้างต้น เมื่อได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนนำหลักค่านิยม 12 ประการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้นนั้นพบว่า ร้อยละ 82.7 ระบุเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้สังคมไทยเริ่มเสื่อมถอยลงทุกวัน/อยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเหมือนเดิม/ประชาชนจะได้มีความสุขมากขึ้น/สังคมมีระเบียบมากขึ้น/วัฒนธรรมประเพณีไทยจะได้ไม่สูญหาย เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุยังไม่จำเป็นเร่งด่วน เพราะปัจจุบันคนไทยก็ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว/ต้องการให้มีการปลูกฝังแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง/สังคมไทยดีอยู่แล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงค่านิยมหลัก 12 ประการที่ได้ยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นประจำนั้น พบว่า ร้อยละ 97.6 ระบุการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รองลงมาคือร้อยละ 94.0 ระบุความซื่อสัตย์ เสียสละอดทน และความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ร้อยละ 84.2 ระบุ ความมีศีลธรรมและหวังดีต่อผู้อื่น ร้อยละ 82.4 ระบุ การรักษาวัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม ร้อยละ 80.5 ระบุการมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ นอกจากนี้ร้อยละ 79.9 ระบุการดำรงตนอยู่โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 79.1 ระบุใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน ร้อยละ 76.7 ระบุมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ร้อยละ 72.5 ระบุคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ร้อยละ 72.1 ระบุเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ และร้อยละ 71.8 ระบุทำใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงค่านิยมหลัก 12 ประการที่เห็นว่านำไปปฏิบัติได้ยากที่สุดนั้นพบว่า ร้อยละ 12.5 ระบุทำใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 10.8 ระบุมีศีลธรรม และหวังดีต่อผู้อื่น ร้อยละ 6.8 ระบุมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ ร้อยละ 6.5 ระบุดำรงตนอยู่โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และร้อยละ 4.5 ระบุเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ตามลำดับ ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 43.1 ระบุไม่มีค่านิยมข้อใดที่ปฏิบัติได้ยาก