กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 6.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 5.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 6.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 5.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 30 ธ.ค. 2557 รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติกฏหมายการส่งออก Condensate โดยนับแต่นี้สหรัฐฯ สามารถส่งออกนอกประเทศได้ ปัจจุบันสหรัฐฯ ผลิต Condensate ได้ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยท่าส่งออกของสหรัฐฯ มีขีดความสามารถส่งออกได้ที่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแผนขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงกลางปี 2558
- Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services Purchasing Managers' Index) ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 57 อ่อนตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด
- กระทรวงน้ำมันอิรักรายงานการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 2557 อยู่ที่ระดับ 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นปริมาณส่งออกสูงสุดในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่ปี 2523 โดยส่งออกจากท่า Basrah ทางตอนใต้ของประเทศ 2.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจากตอนเหนือ (เมือง Ceyhan ประเทศตุรกี) ปริมาณ 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ภูมิภาคเอเซียนำเข้าน้ำมันดิบจากแอฟริกาตะวันตกจากประเทศไนจีเรีย และแองโกลาลดลง โดยReuters Survey รายงานการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 2558 อยู่ที่ระดับ 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 12.43%และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.13% ทั้งนี้แอฟริกาตะวันตกส่งออกน้ำมันดิบมายังตลาดหลักในเอเซียได้แก่ จีนที่ระดับ 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอินเดีย 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของประเทศโอมานประกาศเสนอขายน้ำมันดิบ Oman ส่งมอบเดือน ก.พ. 58 ในตลาดจรเพิ่มขึ้นปริมาณกว่า 3 ล้านบาร์เรล ภายหลังจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติโอมานประกาศแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Sohar (116,000บาร์เรลต่อวัน) เมื่อสัปดาห์ก่อน
- ธนาคาร HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Purchasing Manager Indexหรือ PMI) ในเดือน ธ.ค. 2557 ลดลงจากเดือนก่อน 0.4 จุด อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด โดยอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557 ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทาง
เศรษฐกิจของจีนในปี 2557 เจริญเติบโตไม่ถึงระดับ 7.5% ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3,301 สัญญา มาอยู่ที่ 201,437 สัญญา
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริการายงานดุลการค้าเดือน พ.ย. 2557 ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน7.7% อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบปีเนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง โดยมูลค่าการนำเข้าปิโตรเลียมสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และดุลการค้าเฉพาะปิโตรเลียมขาดดุลต่ำสุดในรอบ 11 ปี
- สำนักงานสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ม.ค. 2558 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 382.4 ล้านบาร์เรล ปริมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ 19.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6%
- The Frontier Weather พยากรณ์อากาศของประเทศสหรัฐฯ และแคนาดาระหว่างสัปดาห์ที่ 13-17 ม.ค. 2558 อุณหภูมิบริเวณภาคตะวันออกของรัฐเท็กซัส รวมถึงภาคตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ และแคนาดามีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
- Reuters ประเมินจีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 2557 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเก็บสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves - SPR)ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบลดลง โดยปริมาณเก็บสำรองน้ำมันดิบ SPR ของจีน ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 124 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 อยู่ 103%
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยสำนักวิเคราะห์ WoodMackenzie รายงานว่ามีการผลิตน้ำมันดิบเพียง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 1.6% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมของโลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตกต่ำไม่คุ้มทุนในการผลิต ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โครงการ Oil Sand ในแคนาดา และ Shale Oil ในสหรัฐฯ จะไม่คุ้มทุนในการผลิต นอกจากนี้ถึงแม้ว่าโครงการจะไม่คุ้มทุนในการผลิตแต่ผู้ผลิตอาจไม่หยุดการผลิตแม้จะขาดทุนเพราะไม่ต้องการหยุดการดำเนินงานทั้งโครงการ อย่างไรก็ตาม Reuters คาดการณ์จีนได้ดำเนินการซื้อน้ำมันดิบในช่วงที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงเพื่อนำไปเก็บสำรองเป็นน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ ในเบื้องต้นจีนมีแผนการเก็บสำรองน้ำมันดิบอยู่ที่ 30 วันของปริมาณการนำเข้า หรือประมาณ 200 ล้านบาร์เรล และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 90 วัน หรือ 600 ล้านบาร์เรลในอนาคต โดยความสามารถในการจัดเก็บที่แท้จริงของจีนนั้นไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ทางด้านเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI อยู่ในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Petrolimex ของเวียดนามยกเลิกการประมูลซื้อGasoline แบบเทอมในไตรมาส 1/2558 เป็นการยกเลิก 2 ไตรมาสติดต่อกันเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว และอุปทานมีปริมาณเพียงพอ และอินโดนีเซียลดการนำเข้าเบนซินในเดือน ม.ค. 2558 ลง 13% จากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 7 ม.ค. 2558 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7% อยู่ที่ระดับ 11.58 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดในรอบ 8 สัปดาห์ และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2557 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9.2% มาอยู่ที่ 7.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อ 95 RON ในตลาดจรปริมาณ 0.084 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 20-24 ก.พ. 58 และ Aden Refinery Company (ARC) ของเยเมนออกประมูลซื้อเบนซิน 90 RON ปริมาณรวม 4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ ก.พ. - เม.ย. 2558 เป็นการออกประมูลซื้อต่อเนื่องจากเดือน
ม.ค. 2558
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงจาก โรงกลั่นของอินเดีย ไต้หวัน และสหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ออกประมูลขายอย่างต่อเนื่อง และบริษัท SEAOIL ของฟิลิปปินส์งดนำเข้าดีเซลในปี 2558 ปริมาณ 3.0 ล้านบาร์เรล แบบสัญญาเทอมระยะเวลา 1 ปี นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันยังเป็นช่วงขาลง และ PJK รายงานปริมาณสำรอง Gas Oil ในยุโรปบริเวณ ARA ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8% อยู่ที่ 20.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อดีเซล 0.25%ในตลาดจรปริมาณ 0.074 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 7-11 ก.พ. 58 และ International Enterprise Singapore รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค. 58 ในสิงคโปร์ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.2% มาอยู่ที่ 9.03 ล้านบาร์เรล