กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
...มนุษย์ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีอิสรภาพและเสรีภาพในการดำรงชีวิต แต่เมื่อมองลึกลงไปภายใต้ภาวการณ์ของการดำรงชีวิตจริง กลับมีสิ่งที่คอยกำกับควบคุมพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นคือวาทกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เพื่อควบคุมตัวเองให้ได้ตามแรงปรารถนา...
แนวคิดที่ก่อเกิดเป็นนิทรรศการผลงานศิลปกรรม “มนุษย์กับวาทกรรม” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการบำบัดความเครียด บำบัดความรู้สึกของมนุษย์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีรัศมิ์ พรหมรัตน์ และอาจารย์อาคม ทองโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์ฯ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
“ผลงานจิตรกรรมชุด มนุษย์ + ความเครียด = 1.618 เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผมกับผู้ใช้สารเสพติดที่มารับการบำบัด โดยใช้รูปแบบกิจกรรมศิลปะบำบัด ภายใต้เงื่อนไขกฎระเบียบ ผ่านรูปลักษณ์และการเปิดเผยความจริงของมนุษย์ผ่านงานศิลปะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีรัศมิ์ พรหมรัตน์ เล่าถึงที่มาของผลงาน
“1.618 คืออัตราส่วนทอง ซึ่งเป็นค่าคงที่ทางคณิตศาสตร์ที่ไม่มีเหตุผลชัดเจน เช่นเดียวกับงานศิลปะที่ไม่มีค่าเหตุผลความงามที่แน่นอนเช่นกัน”
ผลงานจิตรกรรมของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีรัศมิ์ พรหมรัตน์ เป็นภาพของผู้เข้ารับการบำบัดยืนถือภาพงานศิลปะอันเกิดจากหระบวนการบำบัด ลักษณะภาพ สีสัน อารมณ์ ความรู้สึกจะแสดงผ่านสีหน้าท่าทางของตัวชิ้นงานกับผู้ที่ยืนถือภาพ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีรัศมิ์บอกว่า ท้ายที่สุดแล้วงานศิลปะได้ย้อนกลับมาบำบัดความรู้สึกของตัวเองอีกทอดหนึ่ง
สำหรับผลงานของอาจารย์อาคม ทองโปร่ง ก็เป็นเรื่องอารณ์ ความรู้สึกเช่นกัน แต่เป็นภาวะอารมณ์ที่อยู่ในใจ เป็นความลับ ซ่อนเร้น ไม่สามารถเปิดเผยได้
“ผลงานภาพพิมพ์ชุด Something between you and me ใช้หัวน้ำมันผสมผสานดิจิตอลปรินท์ ซึ่งเมื่อผสมผสานกันเราจะควบคุมไม่ได้ เปรียบเสมือนสภาวะแรงปรารถนาที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนขณะสนทนากัน ที่เราไม่อาจควบคุม”
ภาพของบุคคล ซึ่งก็คือตัวอาจารย์อาคมและนิสิตจึงมีลักษณะเบลอ เหมือนมีม่านบังอยู่ เมื่อเรามองภาพ จึงเป็นลักษณะตาจ้องตา เกิดการค้นหาคำตอบ ทำปฏิกิริยากัน สะท้อนภาพความจริงแห่งอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ที่เรามิอาจหยั่งรู้ได้
“คุณค่าของงานศิลปะไม่ใช่อยู่ที่การตั้งคำถามว่าฝีมือของผู้สร้างสรรค์เป็นอย่างไร เหมือนหรือไม่ แต่ให้ถามตัวเองว่า เราเห็นแล้วคิดอย่างไร และให้เราโต้ตอบกับงานศิลปะ เหมือนกับเป็นการสนทนากับตัวเอง นั่นเป็นความงามที่หาได้จากงานศิลปะ คือการพิจารณาตั้งคำถามกับตัวเอง และในที่สุดงานศิลปะก็จะช่วยเผยความรู้สึกจากข้างในของเราออกมา” ประโยคทิ้งท้ายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีรัศมิ์ พรหมรัตน์
งานศิลปะจึงเป็นสื่อ คือแนวทางนำไปสู่การตั้งคำถาม การค้นหาและค้นพบ เป็นกระบวนการของศิลปะบำบัด
ร่วมค้นหาความงามและความจริงได้ในนิทรรศการผลงานศิลปกรรม “มนุษย์กับวาทกรรม” ณ หอศิลป์ฯ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดเดือนมกราคม 2557