กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
สปช.อุบลราชธานี ผุดอุบลฯโมเดลดึงสื่อท้องถิ่นสร้างความเข้าใจประเด็นปฏิรูปประเทศ ชี้เสียงจากส่วนกลางและท้องถิ่นต้องได้ยินเท่ากัน
อุบลราชธานี-สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ดึงสื่อท้องถิ่นร่วมสื่อสารการปฏิรูป โดยการใช้สื่อชุมชนเร่งสร้างความเข้าใจประเด็นการปฏิรูปและเข้าร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในระดับจังหวัด 1 ครั้ง ระดับอำเภอ 10 ครั้งและระดับตำบล 120 เวที
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 นายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และนายอำเภอ ทุกอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดอุบลราชธานีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือในการจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี และประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ประจำจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงนี้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เริ่มดำเนินการในระดับพื้นที่ตามส่วนภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯรับฟังความคิดเห็นและคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านต่างๆทั้ง 18 ประเด็น ในเบื้องต้นจะมีการจัดเวที สปช.เสียงประชาชน ในวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี รวมทั้งจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯระดับจังหวัด 1 ครั้งและระดับอำเภอ อีก 10 ครั้ง นอกจากนั้นแล้ว จะได้ประสานงานกับกอ.รมน.จังหวัด ที่จะมีการจัดเปิดเวทีการปฏิรูปในระดับตำบล อีกกว่า 120 เวทีด้วย
นายนิมิต สิทธิไตรย์ กล่าวว่า สปช.อุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการสื่อท้องถิ่นร่วมใจสื่อสารการปฏิรูป ที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบ(โมเดล)การทำงานร่วมกันของสื่อมวลชนท้องถิ่นกับงานรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูปโดยจะจัดประชุมสื่อมวลชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวและเสียงทางสายในชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปในด้านต่างๆรวมทั้งการกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศว่า ในอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างไรบ้าง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นต่อการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาในระยะสั้นๆ เช่น เรื่องของการเลือกตั้งที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาการซื้อขายเสียง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจรวมทั้งปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ซึ่งข้อมูลความคิดเห็นจะมีการประมวลวิเคราะห์โดยทีมวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อนเสนอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและจัดส่งให้คณะกรรมาธิการฯอีก 18 คณะในส่วนที่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านนั้นๆ