กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแผนปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสมปอง อินทร์ทอง) ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปแผนปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการใน 4 โครงการหลัก โดยจะดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 - 2562 ได้แก่ 1.การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต พื้นที่เป้าหมายรวม 2.6 ล้านไร่ 2.โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) พื้นที่ 2.5 แสนไร่ 3. โครงการลดรอบการปลูกข้าวเป้าหมาย 4 ล้านไร่ 4.โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก (เกษตรผสมผสาน) 1.20 ล้านไร่ และ 5. โครงการปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกอ้อย 4.5 ล้านไร่ ซึ่งโครงการนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนถึงพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 2 ปี แรก (2558 - 2559) จะปรับเปลี่ยนข้าวไปปลูกอ้อยประมาณ 7 แสนไร่ เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตแน่นอน
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งหาข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลผลิต แผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ ข้าวขาว กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมปทุม กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียว พื้นที่เป้าหมายดำเนินการ ข้อมูลเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ซึ่งมีการสำรวจความต้องการไว้เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว มาพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งจะมีข้อมูลสต็อกข้าว ข้อมูลการส่งออกที่ผ่านมาและแผนการส่งออกของภาคเอกชน การใช้บริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการตลาดของข้าวตลาดเฉพาะ เพื่อให้ได้ข้อมูลความต้องการบริโภคที่แท้จริง โดยจากแผนการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวอุปสงค์และอุปทานจะมีความสอดคล้องตรงกันภายในปี 2562 ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดต้องมีความชัดเจนภายในวันที่ 23 มกราคม 2558 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
“ปัจจุบันผลผลิตข้าวยังคงเกินกว่าความต้องการประมาณ 4.43 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2.92 ล้านตันข้าวสารต่อปี ซึ่งนอกจากแผนการลดพื้นที่การปลูกข้าวจากโครงการปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นหรือการปลูกอ้อย รวมพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่แล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการโดยลดปริมาณข้าวคุณภาพต่ำ เพิ่มข้าวคุณภาพดีเข้าสู่ตลาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้การผลิตข้าวสอดคล้องกับความต้องการของตลาดให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ”นายชวลิต กล่าว