กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตวันจันทร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และแขกผู้มีเกียรติเฝ้ารับเสด็จ
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สร้างขึ้นในปี ๒๕๕๔ แล้วเสร็จในปี ๒๕๕๗ โดยมีแนวคิดหลักเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่ท่านเคยเป็นพระ-อาจารย์ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน เพราะในโลกวิชาการที่แท้จริง ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกเหนือจากวิชาเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะในศูนย์การเรียนรู้ฯ และห้องสมุด ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดหาทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ไว้ให้นักศึกษาเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ทำการบ้าน พบปะพูดคุยกัน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยผู้นำแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องเป็นผู้นำของการเรียนรู้ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning หรือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพราะในอนาคตโลกของการเรียนรู้ มิใช่โลกในห้องเรียน หรือห้องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความรู้มากมายนอกห้องเรียน ห้องเรียนในอนาคตจะเล็กลง อาจารย์จะเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางเท่านั้น นักศึกษาจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้นำเสนอและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น
“ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอบสนองเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยทุกประการ โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ที่เปิดกว้างทุกวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง เหมาะสำหรับการเรียนรู้ตลอดเวลา มีอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยให้แก่นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เป็นผู้นำการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ ตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นผู้นำของการเรียนรู้ มีความพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม เพื่อนำความรู้ที่มีไปพัฒนาตนเอง พัฒนาผู้อื่น พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม รวมไปถึงการพัฒนาและสร้างประเทศชาติที่มั่นคงต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า อาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์แห่งนี้ได้สะท้อนแนวคิดเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี จากเมื่อ ๔ - ๕ ปีก่อน ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรทำอะไรเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มิใช่การก่อสร้างเพียงอนุสาวรีย์ แต่ควรจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ท่านได้ให้ไว้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ท่านให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์ตลอดช่วงระยะเวลาที่ท่านได้เป็นพระอาจารย์ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ สำนักหอสมุด และคณะศิลปศาสตร์จึงได้นำเสนอโครงการก่อสร้างห้องสมุดใหม่ เป็นห้องสมุดที่ต่างไปจากเดิม เป็นห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือ ไม่มีผนัง ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่เข้มงวดเหมือนห้องสมุดทั่วไป เป็นห้องสมุดที่เปิดโล่ง เหมาะสำหรับการค้นคว้าในศตวรรษที่ ๒๑ มีที่อ่านหนังสือ มีที่นอน มีที่นั่งเล่น ให้บรรยากาศเป็นกันเอง
ขณะเดียวกัน นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษา ค้นคว้า และรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือ ข้อมูลที่มีทั้งหมดจะเป็นดิจิทัล นักศึกษาเข้าถึงโดยผ่านหน้าเว็บไซต์สำนักหอสมุด และไม่ใช่เฉพาะหนังสืออย่างเดียวรวมไปถึงความบันเทิงต่างๆ ที่มีให้บริการในระบบ Video on Demand ที่เข้าใช้ได้ทุกที่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัย ตลอดจนการมีอุปกรณ์ที่ดีและจำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“การให้บริการศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เราได้เห็นนักศึกษาธรรมศาสตร์แสดงการเคารพซึ่งกันและกัน จากการเปิดให้บริการที่ให้อิสระเสรี ไม่เข้มงวดเหมือนห้องสมุดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ห้องประชุมกลุ่มย่อยเมื่อต้องการทำงานเป็นกลุ่ม การเลือกใช้พื้นที่บริเวณชั้น ๒ และชั้น ๓ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อต้องการอ่านหนังสือ เป็นต้น ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนถึงความเป็นธรรมศาสตร์ ทั้งการให้เสรีภาพในการเรียนรู้ และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน” นางศรีจันทร์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักหอสมุดได้จัดทำนิทรรศการภายใต้แนวคิด 3Cs to Learning ซึ่ง3Cs ประกอบด้วย Correctness (ความถูกต้อง) Connectivity (ความเชื่อมโยง) และ Collaboration (ความร่วมมือ) อันเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำนักหอสมุด ประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาบริการที่ดีที่สุดแก่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร มธ. ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อทูลเกล้าถวายรายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย
การแสดงนิทรรศการ ได้จัดแบ่งโซนออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ หน่วยงานเครือข่ายของสำนักหอสมุดฯ ประกอบด้วย ๕ นิทรรศการได้แก่ บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักประมวลผลข้อมูลเพื่อการศึกษาและพัฒนา ศูนย์ทดสอบสมรรถนะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ ส่วนที่ ๒ การให้บริการของสำนักหอสมุดฯ ผ่านโปรแกรมและระบบต่างๆ ประกอบด้วยนิทรรศการ ๔ เรื่องได้แก่ Koha โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติแบบเปิดเผยรหัส ซึ่งสำนักหอสมุดได้นำมาพัฒนาใช้อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน WorldShare Interlibrary Loan บริการยืมหนังสือระหว่างห้องสมุดในต่างประเทศ TULIB App. ชุดโปรแกรมห้องสมุดเพื่อการใช้งานใน Smartphone และการจัดการความรู้ เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านห้องสมุดและบริการที่เป็นประโยชน์แก่สังคม