กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--สำนักเลขาธิการ เบรีย ภูมิภาค
Better Rice Initiative Asia (เบรีย) ภายใต้องค์การความร่วมมือด้านอาหารของเยอรมัน หรือ German Food Partnership (GFP) กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานเสวนาและเปิดโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรม สุนีย์ แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558
ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะกล่าวเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถา เรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายพัฒนาข้าวไทยของภาครัฐ และนายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง แผนพัฒนาการผลิตข้าว
ในงานจะมีการเสวนา อยู่สองช่วงด้วยกัน โดยในช่วงแรกจะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ ความท้าทายและปัญหาของการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าข้าวไทย ที่ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น บทบาทของศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่มูลค่าข้าว เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว การเชื่อมโยงตลาด การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและการแปรรูป และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนารูปแบบธุรกิจการเกษตร
ในช่วงที่สอง จะเป็นการเสวนาเรื่อง การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนข้าวไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นไปที่ โครงสร้างและบทบาทของภาครัฐ การบริหารงบประมาณและการดำเนินงาน การขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐผ่านสหกรณ์การเกษตร บทบาทความร่วมมือของชมรมโรงสี สมาคมการเกษตรที่เกี่ยวข้อง บทบาทความร่วมมือของผู้ประกอบธุรกิจการค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไทย
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการ เบรีย ภูมิภาค จะกล่าวสรุปประเด็น ความท้าทาย การดำเนินการ และบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อข้าวที่ดีขึ้น
ผู้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากศูนย์ข้าวชุมชน (Community Rice Center หรือ CRC) เป้าหมาย ประกอบด้วย 8 ชุมชน จากจังหวัดอุบลราชธานี 5 ชุมชน จากจังหวัดศรีสะเกษ 5 ชุมชน จากจังหวัดสุรินทร์ และ 7 ชุมชน จากจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมข้าวในท้องถิ่น
ในโอกาสนี้ นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว จะมอบประกาศนียบัตร ให้กับผู้เชี่ยวชาญของกรมการข้าว ที่ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้เสีย ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อเสริมสร้าง ให้เกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้หยิบยกประเด็นปัญหา ที่กำลังเผชิญ และร่วมพัฒนาวิธีการที่เป็นระบบในการแก้ปัญหา และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร
เบรีย เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทย ดำเนินการโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ Deutsche Gesellschaft für Zusammenarbeit (GIZ) กรมการข้าว ด้วยความร่วมมือกับ บริษัท บีเอเอสเอฟ และ ไบเออร์ ครอปซายน์ กิจกรรมหลัก สี่ ด้าน ของ เบรีย คือ การสร้างศักยภาพผ่านการฝึกอบรมแก่ผู้นำเกษตรกร การสร้างความตระหนักในการผลิตอย่างยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพหลังการเก็บเกี่ยว และการเชื่อมโยงตลาดตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Agripreneurs