กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานแถลงข่าว “กฎหมายประมงฉบับใหม่และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย ว่า จากกรณีที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ สหภาพยุโรป (EU) จะให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เนื่องจากผลการประเมินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU : Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ของไทย ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป โดยให้ระยะเวลาประเทศไทยอีก 6 เดือน สำหรับการแก้ไขปัญหาประมง IUU เพื่อทำการปลดใบเหลืองดังกล่าว มิเช่นนั้น ประเทศไทยอาจถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปภายใต้กฎระเบียบ IUU ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าสินค้าประมงไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 242,691 ล้านบาท (ส่งออก EU ประมาณ 32,000 ล้านบาท) อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย และเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมง IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไข โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ของไทยขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา และปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ประกอบด้วยแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่
1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง
2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง
3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS)
4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง
6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม National Plan of Action – IUU (NPOA-IUU)
โดยแผนงานดังกล่าวข้างต้นจะสามารถครอบคลุมการแก้ไขปัญหาและการป้องกันการทำประมง IUU ของเรือประมงไทยทั้งภายในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันสินค้าสัตว์น้ำ IUU จากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยด้วย
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ของไทยนั้น มีการบูรณาการในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกองทัพเรือ ศร.ชล กรมศุลการกร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสมาคมประมงท้องถิ่น 22 จังหวัดชายทะเล และสมาคมภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกรมประมง เชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การปลดใบเหลืองของ EU ออกจากประเทศไทย และภาคการประมงของไทยปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้ในอนาคต