กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 17 ติดตามสถานการณ์และศึกษาต้นทุนการผลิตเกลือทะเลในพื้นที่ เผยผลตอบแทนการทำนาเกลือสมุทรอยู่ที่ไร่ละ 12,748 บาท โดยต้นทุนและค่าเช่าที่นาในการผลิตยังค่อนข้างสูง แนะรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์จากเกลือสมุทรให้มากขึ้น และขอเชิญชวนเกษตรกรขอขึ้นทะเบียนผู้ทำนาเกลือ
นางรัชนี ปิ่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 17 เพชรบุรี (สศข.17) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์และศึกษาต้นทุนการผลิตเกลือทะเลในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบ พบว่า ในปี 2555 มีพื้นที่ทำนาเกลือทะเลทั้งหมด 52,500 ไร่ แยกเป็นจังหวัดเพชรบุรี 36,000 ไร่ จังหวัดสมุทรสาคร 12,000 ไร่ และสมุทรสงคราม 4,500 ไร่ โดยต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7,895.32 บาทต่อไร่ต่อปี แยกเป็นต้นทุนผันแปร ได้แก่ แรงงาน วัสดุ และดอกเบี้ยเงินลงทุน เป็นเงิน 5,595.97 บาทต่อไร่ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 71 ของต้นทุนทั้งหมด และต้นทุนคงที่ ได้แก่ ค่าใช้ที่ดิน ค่าเสื่อมอุปกรณ์และลงทุนอุปกรณ์เป็นเงิน 2,299.35 บาทต่อไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยราคาเฉลี่ยเกวียนละ 1,880.70 บาท
สำหรับผลตอบแทนการทำนาเกลือสมุทร (เกลือทะเล) อยู่ที่ไร่ละ 12,748.32 บาท อย่างไรก็ตาม ต้นทุนและค่าเช่าที่นาในการผลิตค่อนข้างสูงเนื่องจากในช่วงดังกล่าวราคาน้ำมัน ค่าแรงงานค่อนข้างสูง ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และการรวมกลุ่มของเกษตรยังไม่ค่อยเข้มแข็ง จึงควรมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์จากเกลือสมุทรให้มากขึ้น และอยากขอเชิญชวนเกษตรกรสามารถขอขึ้นทะเบียนผู้ทำนาเกลือได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรืออำเภอใกล้บ้านท่าน เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาต่อไป
ทั้งนี้ สศข.17 รับผิดชอบจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ของกระทรวงมหาดไทยและเขตตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขตที่ 5 มีสินค้าเกษตรที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดได้แก่ สับปะรดโรงงาน มะพร้าว ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เกลือทะเลหรือเกลือสมุทรเป็นสินค้าเกษตรอีกชนิดหนึ่ง โดยที่เกลือทะเลเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และสัตว์ ขณะที่ร่างกายของมนุษย์ต้องการบริโภคเกลือประมาณ 5 – 10 กรัมต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเกษตรอีกด้วย โดยท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลเสรษฐกิจการเกษตรเขต 17 เพชรบุรี โทร. 032 337 951