กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--กสทช.
คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ เอไอเอส ดีแทค ทรู ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รวมทั้งผู้แทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาที หลังจากที่ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยประชุมร่วมกับผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย แต่ข้อตกลงที่ได้ไม่โดนใจผู้บริโภค เนื่องจากที่ประชุมมีมติเพียงให้มีการออกโปรโมชั่นทางเลือกที่คิดค่าบริการตามจริงโดยไม่ปัดเศษ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงว่า ที่ประชุม สปช. ได้เห็นชอบข้อเสนอของกรรมาธิการเรื่องการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีและได้เสนอความเห็นดังกล่าวไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ส่งความเห็นในเรื่องนี้ให้กับทางสำนักงาน กสทช. ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะหลังจากที่ สปช. มีมติเพียง 1 วัน สำนักงาน กสทช. ก็ได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ เพียงแต่ข้อสรุปที่ได้อาจยังไม่ตรงกับเจตนารมณ์ตามมติของ สปช. คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยในวันนี้ เพื่อหารือแนวทางการเปลี่ยนโครงสร้างการคิดค่าโทรเป็นวินาทีให้ครอบคลุมทั้งระบบ
สำหรับท่าทีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ปรากฏว่า มีการชี้แจงว่าปัจจุบันรูปแบบการคิดค่าบริการทั่วโลกมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ แบบคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (Real Charge) และแบบคิดค่าบริการในลักษณะปัดเศษ (Round Charge) ซึ่งแต่ละแบบก็มีทั้งข้อดีข้อด้อย โดยการคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นการคิดค่าแบบถัวเฉลี่ย ดังนั้นผู้ใช้บริการที่เศษการโทรเกือบ 1 นาที ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ส่วนผู้ใช้บริการที่เศษการโทรเกิน 1 นาทีเล็กน้อยก็เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนไปเป็นการคิดค่าบริการเป็นวินาทีในทางเทคนิคเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่อยากให้การคิดค่าบริการเป็นระบบเดิมโดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งปัจจุบันมีโปรโมชั่นที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมตามพฤติกรรมการใช้งานอยู่แล้ว เพราะการเปลี่ยนอาจมีผลกระทบที่ต้องพิจารณาอยู่บ้าง ถึงกระนั้นหากนโยบายของรัฐมีความชัดเจนว่าให้ทำ ทางผู้ประกอบการก็ยินดีให้ความร่วมมือ
ขณะที่ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช. หารือกับผู้ให้บริการ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันทีคือการออกโปรโมชั่นใหม่ภายในวันที่ 1 มี.ค. โดยในระหว่างนี้ทางสำนักงาน กสทช. จะประชุมกับผู้ให้บริการเป็นระยะๆ เพื่อให้หลังวันที่ 1 มี.ค. มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น พร้อมแจ้งที่ประชุมด้วยว่า ในวันที่ 15 ม.ค. นี้ จะมีการประชุมกับผู้ประกอบการในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสดงความเห็นว่า ตลาดโทรคมนาคมของไทยเอาเรื่องการวัดเวลากับเรื่องการคิดค่าบริการมาปนกัน ซึ่งหากกำกับสองเรื่องนี้แยกออกจากกันก็จะไม่เกิดปัญหา ทั้งนี้ ในต่างประเทศเคยมีการศึกษาเรื่องการคิดค่าบริการโรมมิ่งในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ใช้วิธีการปัดเศษ พบว่าทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์ การที่ผู้ให้บริการอ้างว่าเป็นการคิดค่าบริการแบบถัวเฉลี่ยนั้น ความเป็นจริงคือคนที่ใช้งานด้วยการโทรสั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแพงกว่าคนที่โทรยาว เพราะถูกปัดเศษวินาทีทุกครั้งที่มีการใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ทำไมคนที่โทรสั้นถึงต้องอุ้มค่าบริการของคนที่โทรยาว เสียงเรียกร้องของผู้บริโภคตอนนี้คือว่าใครใช้แค่ไหนก็ควรจ่ายตามจริงแค่นั้น ส่วนเรื่องที่ผู้ให้บริการอ้างว่าอยากให้การกำกับราคาปล่อยไปตามกลไกตลาด ก็ต้องอธิบายว่า กลไกตลาดไม่ใช่เรื่องของการนับเวลา แต่เป็นเรื่องของราคาค่าบริการที่ปล่อยให้ผู้ให้บริการได้แข่งขันกันต่างหาก โดยองค์กรกำกับดูแลทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเอาไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ให้บริการกำหนดอัตราค่าบริการสูงเกินกว่าที่องค์กรกำกับดูแลกำหนด
“มีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการจะอ้างว่าการคิดค่าบริการตามจริงจะทำให้ต้องค่าโทรสูงขึ้น แต่จริงๆ ที่ผ่านมาการคิดค่าบริการมีลักษณะเป็นการซ่อนราคามากกว่า คือกดค่าบริการให้ดูเสมือนว่าถูก แต่เป็นการแอบปัดเศษ การคิดค่าบริการตามจริงจึงเป็นการเอาราคาที่ถูกซ่อนอยู่มาวางไว้บนโต๊ะ โดยเป็นราคาจริงและจ่ายตามการใช้งานจริง พฤติกรรมการใช้งานที่จะถูกบิดเบือนด้วยราคาก็จะลดลง ซึ่งในภาพรวมจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายถูกลง เพราะถ้าผู้ให้บริการขยับราคาสูงขึ้นมากไป การใช้บริการก็จะลดลง สิ่งนี้จึงเรียกว่าเป็นไปตามกลไกของตลาด” ประวิทย์กล่าว
สำหรับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนโครงสร้างการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบ นายประวิทย์ เปิดเผยว่า ผลของการประชุมในวันนี้ เห็นทิศทางชัดเจนตรงกันว่า น่าที่จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างการคิดค่าบริการตามจริง เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าเมื่อไร ซึ่งภายในวันที่ 1 มี.ค. นี้ สำนักงาน กสทช. ควรจะสามารถตอบได้ว่าจะทำทั้งหมดทั้งระบบได้เมื่อไร
“ในแง่วิธีการก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองแนวทาง แนวทางแรกคือกำหนดให้โปรโมชั่นที่ออกใหม่เป็นโปรโมชั่นที่ไม่มีการปัดเศษ ส่วนโปรโมชั่นเก่าก็ปล่อยให้หมดอายุโดยไม่มีการต่อโปรโมชั่น ส่วนแนวทางที่สองคือการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ไว้ในประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาเพื่อนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะนำไปบังคับใช้ ส่วนในอนาคตก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลโดยกำหนดให้การคิดค่าบริการ ต้องไม่มีการปัดเศษ ซึ่งก็จะตัดปัญหาเรื่องว่าเป็นโปรโมชั่นใหม่หรือโปรโมชั่นเก่า เพราะจะเป็นโปรโมชั่นตามใบอนุญาต” นายประวิทย์กล่าว