กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(ศปก.พม.) ครั้งที่ ๙/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า
จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน ๘ จังหวัด และปัจจุบันระดับน้ำได้คลี่คลายในทุกพื้นที่แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯในแต่ละพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)ได้สำรวจข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS (Geographic Information System) พบว่า มีคนพิการบางส่วนได้รับผลกระทบจากสภาพที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย ชำรุดทรุดโทรม และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนพิการด้วย โดยได้ร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาดำเนินการสำรวจ และปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของคนพิการ จำนวน ๒๙๗ หลัง ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย หลังละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท รวมวงเงิน ๕,๙๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุงสภาพบ้านของคนพิการให้ครบทุกพื้นที่ เพื่อให้คนพิการได้มีการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า จากกรณีของผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่มีการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆนั้น ในกรณีของครอบครัวฐานะยากจน พ่อ แม่ ลูก รวม ๕ ชีวิต อาศัยรถเข็นเป็นที่หลับนอนและเก็บของเก่าขายหารายได้ประทังชีวิตที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ (พมจ.บุรีรัมย์) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการรักษาพยาบาลของสามีภรรยาอย่างต่อเนื่อง และดูแลด้านการศึกษาของเด็กต่อไป
ส่วนกรณีเด็กนักเรียนหญิงพิการหูหนวก เป็นใบ้ อายุ ๑๔ ปี แต่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และยังมีความสามารถพิเศษในการวาดรูป คัดลายมือ จนคว้ารางวัลในระดับเขต และระดับประเทศ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและน่ายกย่องเป็นตัวอย่าง ในความพยายามของเด็กพิการ อีกกรณีที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี(พมจ.สุพรรณบุรี) ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคม. นำกำลังเข้าช่วยเหลือหญิงสาวไทยจำนวน ๓ คน และชาวลาวจำนวน ๖๙ คน รวมจำนวน ๗๒ คน อายุระหว่าง ๑๓- ๒๐ ปี ที่ถูกหลอกมาค้าประเวณีในร้านคาราโอเกะ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจผู้เสียหาย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกลับประเทศภูมิลำเนาต่อไป
“นอกจากนั้น กรณีที่มีการแชร์บนโลกโซเชียล ที่กลุ่มพลังเครือข่ายประชาชน ให้ผู้ที่มีอายุยังไม่เกิน ๘๐ปี เข้าร่วม โครงการ ๑ ชีวิต ๑ ล้าน ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อนุมัติโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะได้รับเงินจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ได้ร่วมกับ สำนักงานเขตดอนเมือง เข้าตรวจสอบการดำเนินงานของสมาคมพลังเครือข่ายแล้ว พบว่าสมาคมฯดำเนินการผิดข้อบังคับในการออกไปรับสมัครสมาชิกนอกสถานที่ จึงได้แจ้งให้สมาคมหยุดการรับสมัครสมาชิกนอกสถานที่และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของสมาคม ทั้งนี้จากการประสานกับนายทะเบียนท้องที่ทราบว่านายทะเบียนท้องที่ได้มีหนังสือแจ้งให้สมาคมดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับแล้ว อย่างไรก็ตามหากมีผู้เสียหายได้หลงเชื่อและเสียเงินค่าสมัครไปแล้ว ให้นำหลักฐานไปประกอบการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป” นายเลิศปัญญา กล่าวตอนท้าย.