กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ศูนย์รับฝากฯ เผยมุ่งให้บริการเป็นสำนักหักบัญชีตราสารอนุพันธ์ ด้วยการให้บริการงานชำระราคาและงานปฏิบัติหลังการซื้อขาย แก่บริษัทหลักทรัพย์ 12 บริษัทสำหรับตลาดอนุพันธ์ สนับสนุนธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และการบริหารหลักประกันสำหรับธุรกรรมตลาดซื้อคืนภาคเอกชน ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการโอนเงินปันผลผ่านบัญชีธนาคารเป็นร้อยละ 80 เพิ่มงานเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์กว่า 800 หลักทรัพย์ พร้อมขยายตลาดนายทะเบียนตราสารหนี้มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าระบบไร้ใบหลักทรัพย์เป็นร้อยละ 100 รวมทั้งการเป็นนายทะเบียน
กองทุนรวม ควบคู่ไปกับกิจกรรมเพื่อสังคม
นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปี 2549 ศูนย์
รับฝากฯ ได้กำหนดแผนงานสำคัญที่จะสนับสนุนธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ รวมทั้งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้ยืมพันธบัตร (Bond Lending) และบริหารหลักประกัน (Collateral Management) รวมถึงการชำระราคาและส่งมอบสำหรับตลาดซื้อคืนตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศไทย (Private Repo)
“บริการในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกรรมในตลาดรองตราสารหนี้ และยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารหลักประกันอีกด้วย โดยในปี 2549 ศูนย์รับฝากฯ ได้วางเป้าหมายที่จะเป็น
นายทะเบียนให้บริษัทที่ออกตราสารหนี้ โดยมูลค่าหลักทรัพย์ที่บริษัทจะเข้าไปเป็นนายทะเบียนให้มีมูลค่ารวมประมาณ 159,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศูนย์รับฝากฯ จะดำเนินงานเป็นสำนักหักบัญชีให้กับตลาดตราสารอนุพันธ์ที่จะเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายในเดือนเมษายน 2549 โดยบริษัทสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทย่อยของศูนย์รับฝากฯ โดยจะมีการจัดระบบบริหารความเสี่ยงและรูปแบบการชำระราคาสำหรับตราสารใหม่ที่เหมาะสมและเน้นการอำนวยความสะดวกกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ 12 บริษัทที่ตลาดตราสารอนุพันธ์ได้คัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกแล้วด้วย” นางนงรามกล่าว
ในปี 2549 ศูนย์รับฝากฯ จะยังคงมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการชำระราคาและส่งมอบ รวมถึงการรับฝากตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้เข้ามาเป็นหน่วยกลางในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ตามแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2548 — 2557)
ด้านการให้บริการแก่ผู้ลงทุน จะมีการรณรงค์โครงการโอนเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคารหรือ e-Dividend อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในปี 2548 ได้มีการรณรงค์ให้ผู้ลงทุนใช้บริการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีผู้ลงทุนที่ได้รับเงินปันผลผ่านบัญชีธนาคารร้อยละ 57 ในขณะที่ในปี 2549 ศูนย์รับฝากฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นผู้ใช้บริการเป็นร้อยละ 80 ของผู้ลงทุนที่ได้รับ
ดอกเบี้ยและเงินปันผลทั้งหมด โดยจำนวนผู้ลงทุนที่เข้าร่วมโครงการ e-Dividend เพิ่มขึ้นจาก 258,395 ราย (หรือร้อยละ 17 ของผู้รับเงินปันผลทั้งหมด) เป็นกว่า 766,829 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 235
นอกจากนี้ ศูนย์รับฝากฯ จะพัฒนาบัตรผู้ลงทุนหรือ Investor Card ขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าสู่ข้อมูลการลงทุน และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในตลาดทุนได้โดยสะดวก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนการขยายฐานผู้ลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
สำหรับปี 2549 ศูนย์รับฝากฯคาดว่าจะให้บริการงานนายทะเบียนหลักทรัพย์แก่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กว่า 800 หลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในปี 2548 ศูนย์รับฝากฯ เป็นนายทะเบียนให้แก่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์จำนวน 550 บริษัทเพิ่มขึ้น 31 บริษัทจาก
ปีก่อนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่หากคิดเป็นจำนวนหลักทรัพย์จะเป็นจำนวน 688 หลักทรัพย์ เพิ่มขึ้น 29 หลักทรัพย์จากปี 2547 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 นอกจากนี้ ได้ให้บริการนายทะเบียนกองทุนรวมทุกประเภท รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 10 บริษัท จำนวน 83 กองทุน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38
ทั้งนี้ ในปี 2548 ศูนย์รับฝากฯ ได้นายทะเบียนให้กับพันธบัตรสกุลเงินบาทที่ออกโดยธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ Asian Development Bank (ADB) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือ Japan Bank For International Cooperation (JBIC) มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาทด้วย
ด้านงานรับฝากหลักทรัพย์นั้น ปริมาณหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณหลักทรัพย์ทั้งหมด พร้อมทั้งได้ปรับปรุงระบบงานรับฝากเพื่อรองรับการนำพันธบัตรรัฐบาลเข้ามาฝากไว้ในระบบ ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์การรับฝากตราสารทุนและตราสารหนี้เข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ยังกล่าวด้วยว่าศูนย์รับฝากฯ จะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ต่อเนื่องจากปี 2548 โดยบริษัทมีโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างมากมาย อาทิ การสนับสนุนกีฬาหมากรุกสากล การจัดคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก การสนับสนุนมูลนิธิเพื่อสังคม เป็นต้น ในปี 2549 นี้ บริษัทได้กำหนดให้ “การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม” เป็นภารกิจหลักของบริษัทอีกประการหนึ่ง โดยมุ่งมั่นที่จะป็นแบบอย่างของการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป
ผู้สนใจทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูข้อมูลได้จาก www.tsd.co.th หรือสอบถามได้ที่ TSD Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 0 22229 2888 หรืออีเมล์ contact.tsd@set.or.th
ติดต่อส่วนธุรกิจสัมพันธ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและแผนงาน
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2229-2892 ถึง 5
e-mail address:
contact.tsd@set.or.th
http://www.tsd.co.th/--จบ--