กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สสว.
สสว. เผยสถานการณ์ SMEs เดือน พ.ย.2557 ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 มีตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอาเซียน ขยายตัวสูง โดยมีน้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ส่วนการจัดตั้งกิจการใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 เชื่อมั่นสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะกระตุ้นให้สถานการณ์ SMEs ไตรมาส 1 ดีขึ้นต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs เดือนพฤศจิกายน พบว่า ภาพรวมยังคงอยู่ในภาวะทรงตัวผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา ข้าว ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐชะลอตัวซึ่งในเดือน พ.ย. มีการเบิกจ่ายจำนวน 205.8 พันล้านบาท แต่ยังมีปัจจัยบวกอยู่ที่ขณะที่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 2.44 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกในเดือน พ.ย.2557 มีมูลค่า 156,977 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 8.85 และหดตัวลงจากเดือน ต.ค. คิดเป็นร้อยละ 3.32 ขณะที่ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 1,764,916 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8.52 ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดในเดือน พ.ย. ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 41,202.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.2 ของมูลค่าการส่งออกรวมของ SMEs รองลงมาคือ จีน มูลค่า 21,021.66 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 15,110.29 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 15,076.13 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,772.67 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่าการส่งออกไปทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 0.5-6.4 โดยมี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มตลาดอาเซียน ที่การส่งออกขยายตัวในระดับสูงตามลำดับ
สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุดในเดือน พ.ย. ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล และอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยหมวดสินค้าสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนคือหมวดน้ำตาล มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 96.2
ในส่วนการนำเข้าของ SMEs เดือน พ.ย. มีมูลค่า 203,981 ล้านบาท ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 6.46 และ 5.55 ขณะที่ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) การนำเข้าอยู่ที่ 2,038,668 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 7.58 ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าในเดือน พ.ย. สูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 58,801.64 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 26,244.35 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 24,818.85 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 22,386.55 ล้านบาท และกลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 20,078.39 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ SMEs นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในเดือน พ.ย.2557 พบว่า กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 4,422 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 0.57 แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 17.87 โดยทุนจดทะเบียนที่จัดตั้งใหม่มีมูลค่า 35,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 41.11 และ 77.19 ตามลำดับ ขณะที่ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 56,147 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 12.81 ประเภทกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุดในเดือน พ.ย. ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย ธุรกิจจัดนำเที่ยว ตามลำดับ
ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการในเดือน พ.ย. มีจำนวน 2,081 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 16.71 และ 26.81 โดยทุนจดทะเบียนที่ยกเลิกมีมูลค่า 9,184 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 22.30 และ 14.33 ตามลำดับ ส่วนในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มีการยกเลิกกิจการรวม 13,928 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 8.36 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุดในเดือน พ.ย. ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจของ SMEs จะมีการขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของ SMEs (SMEs Leading Economic Index) ซึ่งขยายตัว 6 เดือนติดต่อกัน โดย ณ เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 110.72 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 0.26 ผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปริมาณการผลิตรถ Pic up ซีเมนต์ผสม พาหนะเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงการขยายตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai และพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ทะยอยออมาในช่วงปลายปี 2557 เป็นต้นมา จะส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2558 เป็นต้นไป