กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ภาวะบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยที่กระทบกระเทือนต่อการทำงานของสมอง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง “อัมพฤกษ์ อัมพาต” ได้โดยไม่ทันตั้งตัว
นพ.นที รักษดาวรรณ แพทย์โรคทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อ รพ.กรุงเทพ ยอมรับว่า วันนี้ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตหลายราย ต้องใช้ชีวิตอยู่ทั้งที่ขยับร่างกายไม่ได้ครึ่งซีก มีปัญหาการพูด การกลืน ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาทำได้เพียงกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แม้จะไม่ดีเท่าเดิม 100% ความหวังในการรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทีมแพทย์และนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคนิค Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation (rTMS) เพื่อรักษาความผิดปกติของสมอง ด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ยิงเข้าไปยังสมอง เพื่อปรับการทำงานของสมองจากที่ผิดเพี้ยนให้คงที่ โดยเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่สร้างจากสนามแม่เหล็ก ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ความพยายามรักษาความผิดปกติของสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็ก ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานมานี้คนอาจจะคุ้นเคยกับการฝังแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระตุ้นสมอง เพื่อรักษาโรคพากินสัน แต่วันนี้เทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถรักษาความผิดปกติของสมองโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Non Invasive Brain Stimulation (NIBS) Service) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ปัจจุบัน เทคนิค rTMS ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ให้ใช้เป็นการรักษามาตรฐานใน 2 โรค ได้แก่ คนไข้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านอาการซึมเศร้า ในคนไข้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนแบบมีอาการนำ แต่เทคนิคดังกล่าวถูกนำมาใช่ในผู้ป่วยระบบประสาท คนไข้โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรืออ่อนแรงครึ่งซีก อาการปวดที่หน้า ปาดครึ่งซีก โรคลมชัก และโรคทางจิตเวช ติดบุหรี่ ประสาทหลอน ออทิสติก “1 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำเทคโนโลยี rTMS เข้ามาให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการทางเลือกในการรักษาความผิดปกติทางสมองและไขสันหลัง อัมพฤกษ์อัมพาตครึ่งซีก และอาการผิดปกติทางจิตเวช” เทคโนโลยี rTMS ในประเทศไทย รพ.กรุงเทพ ที่ได้ศึกษาและพัฒนาเทคนิคการใช้งานและการให้บริการ Non Invasive Brain Stimulation (NIBS) Service จนมีความชำนาญ สามารถวินิจฉัยและออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย แต่เป็นแนวทางที่การแพทย์ที่ทั่วโลกยอมรับ โดยอาศัยเทคนิคการสร้างสนามไฟฟ้าในสมอง โดยอาศัยการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นชุดๆ ผ่านกะโหลกศีรษะ เพื่อให้ไฟฟ้ากระแสตรงช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภายในของสมองตามแนวทาง neuroplasticity ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสมองเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อของใยประสาท (synapse) และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถปรับแก้ได้โดยการสร้างสนามไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในสมอง การเริ่มต้นรักษา“เริ่มจากสร้างภาพสมองด้วยเครื่อง MRI แล้วนำใช้ในการวางตำแหน่ง ขดลวดเพื่อกระตุ้น การรักษาด้วยเทคนิค rTMS จำเป็นต้องทำควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด ซึ่งผลการรักษาช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่า 50-60%”
นพ.นที กล่าวว่า การยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นชุดๆ เข้าไปยังสมอง จะช่วยคนไข้ที่มีภาวะบาดเจ็บของสมองและไขสันหลัง เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองทั้งแบบกระตุ้น และแบบยับยั้ง ในแต่ละโรคที่มีความแตกต่างกันไปการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ บางรายอาจต้องมาใช้เครื่อง rTMS รักษาต่อเนื่องจนจบคอร์ส นานอย่างน้อย 10-14 ครั้ง จึงจะเห็นผลของการรักษา อย่างไรก็ตาม วันนี้การรักษาด้วย TMS เริ่มต้นจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากความผิดปกติของสมอง โดยได้รับความสนใจจากผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยในอนาคต การรักษาด้วย rTMS ในประเทศไทยคาดว่าจะขยายไปยังโรคอื่นเพิ่มเติม เช่น โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตเวช โรคปวดหัวข้างเดียว โรคลมชัก ปวดเรื้อรัง หรือไมเกรนที่มีอาการนำ รวมถึงความผิดปกติของสมองในเด็ก ก็สามารถรักษาได้ด้วย