กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โดย ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ
สถานการณ์ของผู้อพยพ โรงฮิงญา เริ่มศักราช 2558
เช้ามืดของวันที่ 11 มกราคม 2558 รถกระบะ 5 คัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกตรวจ และพบชาวโรฮิงญากว่า 100 คน อัดกันมาในรถคันละเกือบ 20 คน ทุกคนอยู่ในสภาพอ่อนแอ หญิงสาวชาวโรฮิงญาคนหนึ่งถูกพบว่าเสียชีวิตตั้งแต่ถูกจับยัดอัดเข้าไปในรถกระบะแล้ว หลายสิบคนถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวไทร 2 คนเสียชีวิตในวันที่ 13 มกราคม
เพียงแค่ 15 วันแรกของปี 2558 มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่พบว่าเสียชีวิตแล้ว 3 คน ขณะที่ในปี 2557 มีผู้พยพลักลอบหนีเข้าเมืองเสียชีวิตใน 3 เดือนแรก 8 คน และศพที่ 9ในเดือนธันวาคม ที่เป็นเพียงเด็กชายอายุเพียง3 ขวบที่ถูกขังร่วมอยู่กับพ่อในห้องควบคุมของด่านตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดสงขลาเนื่องจากไม่มีญาติที่เป็นผู้หญิงเดินทางด้วย และทั้งตัวเด็กเองก็ไม่ยอมที่จะอยู่ห่างจากพ่อของตนแต่ด้วยสภาพของห้องควบคุมที่ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและการควบคุมที่ยาวนานกว่า 10 เดือนเด็กชายคนนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่กับพ่ออีกต่อไป
เปิดเส้นทางการอพยพและลักลอบหนีเข้าเมือง พบมาจากหลายจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย
การอพยพลักลอบหนีเข้าเมืองชาวพม่าโรฮิงญา ได้ขยายเป็นขบวนการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในหลายจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทยตั้งแต่ระนอง พังงา จนถึงสตูล เรือประมงของไทยได้ไปรอรับอยู่บริเวณน่านน้ำที่เป็นชายแดนบังคลาเทศเมียนมาร์เพื่อรับตัวชาวโรฮิงญาที่ต้องการหนีความรุนแรงในบ้านเกิดหนีความยากจนในบริเวณชายแดนเมียนมาร์บังคลาเทศ บางคนถูกหลอกลวงว่าจะพาไปหางานทำบางคนถูกบังคับให้ขึ้นเรือโดยนายหน้าที่อยู่ในชุมชนของตน พวกเขาถูกพาขึ้นเรือเล็กก่อนที่จะจะมาขึ้นเรือขนาดใหญ่ที่จอดรออยู่ในทะเลหลวงถ้าโชคดีก็ใช้เวลาเดินทางในทะเลเพียงสิบกว่าวัน ถ้าโชคร้ายที่จำนวนชาวโรฮิงญาบนเรือยังได้ไม่ถึงเป้าก็ต้องอยู่รอบนเรือหรืออาจต้องหลบเลี่ยงเรือตรวจการณ์ทั้งของบังคลาเทศ หรือของไทยในระหว่างทาง เวลาที่ใช้จากสิบกว่าวันก็เป็นหลายสิบวันที่มีเพียงข้าวสารคุกเกลือกินระหว่างทาง
ชาวโรงฮิงญาถูกขายต่อด้วยกระบวนการนายหน้าด้วยค่าตัว 50,000-10,000 บาท
ชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมได้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556เป็นต้นมา เดินทางเข้ามาด้วยเรือประมงที่อยู่ในเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทยก่อนที่จะทยอยลงเรือเล็กเพื่อขึ้นฝั่งเพื่อนำมาพักก่อนที่จะพาข้ามชายแดนในบริเวณจังหวัดสงขลาเพื่อขายต่อไปเป็นแรงงานให้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือขายต่อให้กับญาติพี่น้องของพวกเขาค่าตัวของพวกเขาอยู่ตั้งแต่ 50,000 จนถึง 100,000 บาท
ไม่มีใครรู้จำนวนทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศมีเพียงแต่จำนวนที่ถูกจับกุมได้เท่านั้น ในปี 2557 ที่ผ่านมามีเพียงประมาณ1,300 – 1,500 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าจำนวนที่จับกุมได้ในปี 2556ที่จับกุมได้มากกว่า 2,000 คน ความสำเร็จในการจับกุมที่มีจำนวนน้อยลงขัดแย้งกับจำนวนผู้อพยพที่เดินทางออกมาจากชายฝั่งอ่าวเบงกอลบริเวณชายแดนเมียนมาร์บังคลาเทศที่สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้สำรวจพบว่าเฉพาะ 10 เดือนของปี 2557 มีผู้อพยพออกมาจำนวน 53,000คน ที่ใช้เส้นทางทะเลเลียบชายฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลเข้าสู่ไทยหรือมาเลเซีย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีจำนวน40,000 คน
ประเทศไทยยังไม่มีนโนบายในการจัดการผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน
ปัญหาของไทยในการจัดการกับการอพยพลักลอบเข้ามาของชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะจากบริเวณชายแดนเมียนมาร์คือจำนวนมากมีลักษณะเป็นผู้อพยพหนีความรุนแรง พวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองและถูกผลักดันขับไล่ออกมาจากบ้านเกิดของตน ขณะที่ไทยเองก็ไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการจัดการกับกลุ่มผู้อพยพหลายสิบปีที่ไทยต้องรับผู้อพยพทั้งจากประเทศเมียนมาร์ จากกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นเพียงการใช้อำนาจของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของรัฐบาลไทยภายใต้เงื่อนไขสภาพการเมืองระหว่างประเทศในการอนุญาตให้ผู้อพยพลี้ภัยสามารถอยู่ได้ในประเทศได้ชั่วคราวและเฉพาะกลุ่มเท่านั้นไม่ได้เป็นการอนุญาตให้ผู้อพยพลี้ภัยทุกกลุ่ม หรือทุกคน และในปัจจุบันไทยก็ไม่ได้มีการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่อยู่ในประเทศได้อย่างเป็นทางการอีกแล้ว
การปราศจากแนวนโยบายในการจัดการผู้ลี้ภัยที่ชัดเจนและเป็นทางเลือกที่ดีกว่าได้ผลักให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มชาวโรฮิงญาที่หนีออกมาจากรัฐยะใข่ ประเทศเมียนมาร์เลือกช่องทางที่เหลืออยู่ช่องทางเดียวคือการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นสินค้าที่ขบวนการค้ามนุษย์จะทำเงินทั้งจากญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศแล้วหรือขายไปเป็นแรงงาน ประเมินอย่างต่ำจากจำนวนคนที่เดินทางออกมา 53,000 คน แต่ละคนจำเป็นจะต้องจ่ายให้ขบวนการขั้นต่ำ 50,000 บาท เฉพาะในปี 2557 จะมีเงินไหลเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่ในเส้นทางจากชายฝั่งเบงกอลถึงอันดามันของไทยและมาเลเซีย มากกว่า 2,500 ล้านบาท
รัฐไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา เช่นการอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาที่ถูกดำเนินคดีลักลอบเข้าเมืองได้ประกันตัวออกไปอยู่ภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องของตนหรืออนุญาตให้เดินทางต่อไปอยู่กับญาติพี่น้องในต่างประเทศ รวมถึงอนุญาตและจัดหางานให้กับชาวโรฮิงญาที่ถูกจำแนกว่าตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์
สิ่งที่รัฐบาลไทยควรต้องทำคือการหยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในจังหวัดชายฝั่งอันดามันและบริเวณชายแดนไทยเมเลเซียให้ได้เพื่อลดการนำพาชาวพม่าโรฮิงญาเข้ามาในประเทศเมื่อจำนวนที่ถูกนำพาเข้ามาลดลงก็ต้องสร้างนโยบายทางเลือกที่ซึ่งไม่ได้เป็นภาระในการดูแลให้กับรัฐบาลไทยเช่นการอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาที่ถูกดำเนินคดีลักลอบเข้าเมืองได้ประกันตัวออกไปอยู่ภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องของตนหรืออนุญาตให้เดินทางต่อไปอยู่กับญาติพี่น้องในต่างประเทศ รวมถึงอนุญาตและจัดหางานให้กับชาวโรฮิงญาที่ถูกจำแนกว่าตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
เฉพาะหน้าจากประสบการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดพังงาและสงขลาที่เผชิญปัญหานี้มามากกว่า 2 ปี การใช้ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในสองจังหวัดเป็นสิ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่จำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนกำลังคนงบประมาณจากรัฐบาล และความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสบการในการทำงานกับกลุ่มผู้อพยพลี้ภัย
การดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กกว่า 100 คน เป็นสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของ พม.เองก็คงไม่เคยถูกฝึก ถูกอบรม หรือแม้แต่จะจินตนาการมาก่อน การเตรียมสถานที่ที่ต้องมีความปลอดภัย สามารถปกป้องผู้เสียหายเหล่านี้จากนายหน้า หรือคนในขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการดูแลเจ้าหน้าของ พม.ในพื้นที่เองด้วย การเตรียมอาสาสมัครในการดูแล ล่ามสื่อสาร โดยการประสานกับองค์กรมุสลิม องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ควรต้องผ่านกลไกของกระทรวงฯ ที่มักทำอะไรไม่ทันเวลาเสมอ รวมถึงการเตรียมแผนในกรณีที่การดูแลผู้เสียหายเหล่านี้ยาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างความกดดันให้กับผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องเหล่า เจ้าหน้าที่ พม.ในจังหวัดพังงา และสงขลามีประสบการณ์มาแล้วทั้งนั้น
การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ต้องกระทำอย่างระมัดระวังการจำแนกต้นทางที่มา หรือสัญชาติเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่เพียงส่งผลต่อการดำเนินกฎหมายภายในเท่านั้นแต่ส่งผลถึงการดำเนินการช่วยเหลือ กรณีที่พบว่าเป็นชาวบังคลาเทศก็เป็นหน้าที่ของสถานทูตบังคลาเทศเข้ามาพิสูจน์สัญชาติ และดำเนินการส่งกลับบ้านกรณีที่เป็นชาวพม่าโรฮิงญาก็เป็นภาระของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งประชาชาติที่ต้องทำงานร่วมกันหากมีคุณสมบัติเป็นผู้ลี้ภัยก็ประสานส่งต่อไปประเทศที่สาม หากมีคนในครอบครัวอยู่ในประเทศที่3 และประสงค์ไปหาครอบครัวก็ต้องช่วยดำเนินการให้เดินทางไปหาครอบครัวได้สุดท้ายก็เหลือกลุ่มผู้อพยพ อาจจะไม่กี่ร้อยคนที่ไม่สามารถไปใหนได้ รัฐบาลไทยก็ควรจะไฟเขียวให้ตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจตามมาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ประกันตัวออกมาและอยู่อาศัย ทำงานในพื้นที่ที่กำหนดไว้ หากเลือกที่จะหลบหนีรัฐบาลก็สามารถยึดเงินประกันไว้ได้ และชาวพม่าโรฮิงญาก็ต้องหลบหนีการจับกุม ถูกจับกลับไปสินค้าแรงงานเหมือนเดิม
หัวใจสำคัญที่รัฐบาลไทยควรทำ คือการคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้อพยพลักลอบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญากลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ลี้ภัย ไม่มีญาติในประเทศที่สาม ให้เขาสามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ให้เขาสามารถทำงานได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด ดีกว่าควบคุมให้ตายทั้งเป็นในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือผลักดันกลับให้กลายเป็นสินค้าแรงงานของขบวนการค้ามนุษย์รอบใหม่ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ โทร 081-433-9125 , 081-860-2305