กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการลงมติถอดถอนนักการเมือง กรณีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 632 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2557 ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาเกือบร้อยละร้อยละ คือร้อยละ 95.7 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 4.0 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.3 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
และเมื่อสอบถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการยื่นญัติถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวรัชพาณิชย์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 29.1 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 47.1 ระบุติดตามบ้าง ร้อยละ 19.6 ระบุไม่ค่อยได้ติดตาม และร้อยละ 4.2 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้ เมื่อสอบถามต่อไปถึงความตั้งใจที่จะติดตามข่าวสารการลงมติถอดถอนดังกล่าวซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคมที่จะถึงนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาประมาณครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 52.1 ระบุตั้งใจจะติดตาม ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 7.6 ระบุคิดว่าคงไม่ได้ติดตาม
ประเด็นสำคัญที่ค้นจากการสำรวจในครั้งนี้ก็คือ เมื่อสอบถามความเชื่อมั่นในความโปร่งใส และบริสุทธิ์ยุติธรรมของการลงมติถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวรัชพาณิชย์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังกล่าวนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 60.6 ระบุเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.0 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.4 ระบุไม่เชื่อมั่น
นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปว่ารู้สึกกังวลหรือไม่ว่าการลงมติถอดถอนในครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศนั้น พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 37.1 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 62.9 ระบุไม่กังวล
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อกรณีการลงมติถอดถอนกับแนวทางการปรองดองที่รัฐบาลและ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น พบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.0คิดว่าการลงมติถอดถอน ขัดกับแนวทางการสร้างความปรองดอง ในขณะที่ร้อยละ 68.0 ระบุคิดว่าไม่ขัด ทั้งนี้ ร้อยละ 77.0 ระบุการยื่นญัติถอดถอนในครั้งนี้จะถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยได้ ในขณะที่ร้อยละ 23.0 ระบุคิดว่าไม่ได้ โดยบุคคลที่ไว้ใจที่สุดที่จะให้เป็นผู้นำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดเป็นร้อยละ 96.7 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดเป็น ร้อยละ 1.2 และคนอื่นๆ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอานันท์ ปันยารชุน นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทหาร และคสช. เป็นต้น
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนต่อรัฐบาลและ คสช.หากที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ถอดถอนนักการเมืองทั้งสามคนดังกล่าวนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 89.5 ระบุจะยังสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ในขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุไม่สนับสนุน เช่นเดียวกัน เมื่อสอบถามว่าหากที่ประชุมมีมติเห็นชอบไม่ถอดถอน นั้นพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 79.8 ระบุสนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 20.2 ระบุไม่สนับสนุน ตามลำดับ